TSU

Inline Skate Community : พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน

   16 พ.ย. 66  /   1482
Inline Skate Community : พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน
 

 เมื่อพูดถึงพื้นที่สาธารณะ หลายคนคงนึกถึงสวนหย่อมกลางเมือง สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ห้องสมุด ทางเท้า หรือถนนหนทาง ในขณะพื้นที่สาธารณะสามารถให้ความหมายไปได้ไกลกว่านั้น กระทั้งนอกจากจะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว พื้นที่สาธารณะยังมีหน้าที่สร้างความมีชีวิตชีวา รอยยิ้ม ความสุขให้ชุมชน ไปจนถึงการเป็นพื้นที่พูดคุยเพื่อสลายการเป็นคนแปลกหน้าของผู้คน

     สำหรับชุมชนแล้ว การมีมหาวิทยาลัยอยู่ในชุมชน ก็เหมือนการมีพื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าถึงพื้นที่ความรู้ สถานที่ และอาณาบริเวณเพื่อการอยู่ร่วมกันและนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต มหาวิทยาลัยทักษิณก็เป็นอย่างนั้น

 

     ในช่วงเย็นของทุกวัน หลังจากผู้คนเลิกงานและเด็ก ๆ เลิกเรียน กิจกรรมนอกบ้านของหลายๆ คนเริ่มต้นที่นี่ บ้างเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน ตีแบดมินตัน ปิงปอง และหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ อินไลน์สเก็ต (Inline skate) กีฬามาแรงในยุค New normal ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งของเด็กๆ รอบๆ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และชุมชนใกล้เคียง ภาพของผู้ปกครองพาบุตรหลานมาทำกิจกรรมนอกบ้านในที่แห่งนี้จึงพบเห็นได้อย่างคุ้นตา


     “ครูติณณ...ครูติณณ...” เสียงเด็ก ๆ ในรองเท้าติดล้อตะโกนเรียกครูพวกของเขาดังมาจากอีกฝั่งของลานกว้างริมสระน้ำหน้าคณะวิศวกรรมศาสตร์

     เด็กๆ อีกกลุ่มกำลังวิ่งเล่นฝึกฝนตนเองบนรองเท้าติดล้อกันอย่างสนุกสนาน โดยมีผู้ฝึกสอนคอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ขณะที่สองข้างทางผู้ปกครองนั่งจับกลุ่มพูดคุยกัน บ้างนำอาหารมื้อค่ำมารับประทานร่วมกันระหว่างครอบครัวขณะรอเด็กๆ ของพวกเขา

     ครูติณณ หรือ นายติณณ สุวรรณคีรี นักวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อาสาสมัครผู้ฝึกสอนอินไลน์สเก็ตให้เด็กๆ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย เล่าให้ฟังว่า โดยส่วนตัวมีความชอบใน อินไลน์สเก็ต อยู่ก่อนแล้ว ก่อนนี้ก็เอามาเล่นหลังเลิกงานกับครอบครัว ต่อมาเห็นมีเด็กๆ สนใจเล่นกัน เลยคอยแนะนำแนวทางการฝึกและเพิ่มทักษะการเล่นให้กับเด็ก ๆ ประกอบกับในช่วงปีที่ผ่านมา ก่อนจะมีการแข่งขันกีฬาอินไลน์สเก็ตสนามระดับชาติรายการหนึ่ง ได้ชักชวนนักกีฬาเยาวชนทีมชาติที่กำลังมองหาพื้นที่ลานคอนกรีตเตรียมตัวซ้อมเข้าร่วมการแข่งขันมาซ้อมที่นี่ เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมไม่มีรถพลุกพล่านอีกทั้งทางมหาวิทยาลัยก็เปิดพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชน


นายติณณ สุวรรณคีรี นักวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา

     หลายคนคงเข้าใจว่าอินไลน์สเก็ตเป็นกีฬาสำหรับเด็ก แต่ความจริงแล้ว สามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งนับว่าเป็นกีฬาที่เหมาะกับทุกคน อินไลน์สเก็ต เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยเองเล่นกันอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากเป็นการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพพอๆ กับการวิ่งแล้ว ยังทำให้รู้สึกผ่อนคลายร่วมกับเพื่อนๆ

     “การเล่น อินไลน์สเก็ต ต้องใช้รองเท้าพิเศษในการเล่น ซึ่งเป็นรองเท้าที่มีการติดตั้งล้อที่พื้นของรองเท้าโดยมีตั้งแต่ 3 และ 4 ล้อ โดยทั่วไปแล้ว หลายคนจะรู้จักกันในชื่อ โรลเลอร์เบลด (Roller Blade) หรือ รองเท้าสเก็ต มากกว่า และใครก็ตามที่ต้องการฝึกหรือออกกำลังกายกับกีฬาอินไลน์สเก็ต ไม่ว่า ผู้เล่นมือใหม่ มืออาชีพก็สามารถมาใช้พื้นที่แห่งนี้ร่วมกันได้ และหากไม่มีรองเท้าสเก็ต เราก็มีให้เช่าในราคาย่อมเยาว์เพียงแค่คู่ละ 20 บาท ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการออกกำลังกาย และมีโอกาสในการพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬาเยาวชนของชาติต่อไปด้วย” ครูติณณ กล่าว

     บรรยากาศการเล่น อินไลน์สเก็ตบริเวณลานพื้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงนั้นมีทั้งเด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่ เล่นกันอย่างสนุกสนาน ภาพผู้ปกครองต่างปูเสื่อคอยนั่งเชียร์อย่างใกล้ชิด ก็เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็ก ๆ มีความมุ่งมั่น พยายามที่จะเล่นให้ได้เหมือนกับเพื่อนๆ การนำอาหารมารับประทานร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างนั่งรอบุตรหลานเป็นภาพที่น่าจดจำ

  

 
คำรบ คชภักดี

     “เห็นเด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่เขาชอบเราก็มีความสุข เขาชอบก็สนับสนุนเขา อีกอย่างผู้ปกครองเองก็มีโอกาศได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูก พอมีคนคอยสอนคอยดูแลความปลอดภัยให้ก็ยิ่งสบายใจ และดีใจที่มหาวิทยาลัยทักษิณแบ่งปันพื้นที่ความสุขให้เด็กๆ และชุมชน เท่าที่เห็นตอนนี้ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ใกล้เคียงที่พาบุตรหลานมา หลายคนขับรถมาจากในตัวเมืองเพื่อมาฝึกกันที่นี่” นายคำรบ คชภักดี ผู้ปกครองของน้องไทตั้น และน้องอาเธอร์ กล่าว

     มหาวิทยาลัยทักษิณหวังว่า การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สาธารณะภายในมหาวิทยาลัยจะทำให้ประชาชนเข้าถึงโอกาส การสร้างพื้นที่ก็คือการสร้างคน สร้างชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่การสร้างประโยชน์กับสังคม เกิดความรู้สึกว่า เราเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ร่วมกันร่วมกัน และเพื่อให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

     “การเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ สามารถนำไปสู่เรื่องที่ดี ๆ ได้ในอนาคต” ครูติณณ อาสาสมัครผู้ฝึกสอนอินไลน์สเก็ตให้เด็กๆ ส่งท้ายด้วยความภูมิใจ