TSU

ม.ทักษิณ จัดกิจกรรม Road to TSU Proud Academy มุ่งเป้าบุคลากรผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ

   21 ก.พ. 67  /   65
SDGs ที่เกี่ยวข้อง
ม.ทักษิณ จัดกิจกรรม Road to TSU Proud Academy มุ่งเป้าบุคลากรผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ
 

ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดกิจกรรม Road to TSU Proud Academy เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมแสงสุริยา อาคารปฏิบัติการวิชาชีพครู  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และห้องเรียน MF3200 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย TED Talk : I Have a Dream โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า และรองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร สังขรักษ์  การบรรยาย Road to TSU Proud Academy โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ และการเปิดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมซักถาม เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ และการกำหนด Milestone โดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ และรองอริการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภามหาวิทยาลัย

 

 

มหาวิทยาลัยทักษิณได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย 20 ปี  พ.ศ. 2561 – 2580 ให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยทักษิณ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และได้แปลงสู่แผนพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการทั้งระยะสั้นและระยะยาวของมหาวิทยาลัย โดยให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สายคณาจารย์” ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ควรได้รับการกระตุ้น และพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพและการผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศในปี พ.ศ. 2570 โดยกำหนดเป้าหมายให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งทางวิชาการ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ภายในเวลา 2 ปี ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยทักษิณ อยู่ที่ร้อยละ 37 ดังนั้น การมุ่งสู่เป้าหมายร้อยละ 55 มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาศักยภาพของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ในปัจจุบัน จำนวน 300 คน ให้เข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ จำนวนอย่างน้อย 88 คน  ดังนั้นการเข้าสู่ตําแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น ถือเป็นภาระหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทางวิชาการ ความพร้อม และศักยภาพด้านวิชาชีพ  นอกจากเป็นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแล้วยังเป็นการพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพในการแข่งขันทางด้านวิชาการ ตลอดจนผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาไทยก้าวสู่ความเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับนานาชาติและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจึงเสนอโครงการเส้นทางสู่ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ (Road to TSU Proud Academy) เพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ