TSU

คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ ชูนโยบาย Proud to be TSU LAW มุ่งขับเคลื่อนหลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่

   14 มี.ค. 67  /   86
คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ ชูนโยบาย Proud to be TSU LAW มุ่งขับเคลื่อนหลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่
 

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ชูนโยบาย  Proud to be TSU LAW  มุ่งขับเคลื่อนหลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่ เสริมสมรรถนะสากลนักกฎหมาย

 

สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ในการประชุมครั้งที่ 2/2567  เมื่อวันที่ 2  มีนาคม 2567 มีมติแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษฎา อภินวถาวรกุล  ดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะนิติศาสตร์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2567 เป็นต้นไปนั้น ทีมข่าว TSU NEWS ได้สัมภาษณ์ แนวทางการบริหารคณะนิติศาสตร์ ซึ่งท่านได้ให้ข้อมูลดังนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้การนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษฎา อภินวถาวรกุล  คณบดีคณะนิติศาสตร์  มีนโยบายที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้น Competency ด้านการจัดการเรียนการสอน กล่าวคือเราจะมีการ Transform หลักสูตรแบบเดิม หรือแบบคลาสสิกที่มุ่งเน้นให้มีการเรียนมาก ๆ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลักสูตรจากเดิม ไปสู่หลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่ โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอน การวิจัยการ บริการวิชาการในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้มุ่งเน้นการเรียนเชิงวิชาการและสร้างสมรรถนะการเข้าสู่อาชีพของผู้เรียน โดยเฉพาะมุ่งสร้างความแตกต่าง เรียกว่า “Proud to be TSU LAW”  คือการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของนิสิตคณะนิติศาสตร์ สิ่งที่นิสิตต้องมี คือ Soft skills ความมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้รอบตัว เพื่อการประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 โดยจัดโครงสร้างผู้บริหารหนึ่งคนดูแลเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ  

นอกจากนี้เราจะมุ่งสร้างสมรรถนะสากล 2 ส่วนคือส่วนแรกทักษะด้านภาษาอังกฤษและทักษะสากล เช่นการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่นิสิตต้องนำไปใช้ตอนที่พวกเขาไปทำงาน ส่วนที่ 2 ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองนโยบายและรองรับหลักสูตรใหม่ ๆ และหลักสูตร Premium ในอนาคต   คณะนิติศาสตร์มีแนวทางการจัดการศึกษาทุกช่วงวัย คือการจัดการเรียนรู้ทางกฎหมายให้แก่ผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562  การเปิดหลักสูตร Non Degree และ Pree Degree ซึ่งเป็นคณะแรกๆ ในมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เริ่มดำเนินการ และเมื่อเปิดเรียนในระยะแรกๆ  ได้รับการตอบรับอย่างดี จึงได้มีการจัดทำกลยุทธ์ที่เรียกว่า “LAW For ALL” ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ทางกฎหมายให้กับคนทุกช่วงวัย เพื่อให้ครอบคลุมหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิตในชั้นบัณฑิตศึกษา โดยแบ่งเป็น 3 แผน
     แผนที่ 1 คือแผนที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
     แผนที่ 2 เหมาะสำหรับผู้เรียนในหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตที่คาดหวังว่าจะเรียนต่อในระดับนิติศาสตร์มหาบัณฑิต
     ส่วนแผนที่ 3 เป็นแผนที่ยอดเยี่ยมและเป็นที่ชื่นชอบของผู้ปกครอง หรือเรียกว่า Double Pree Degree เรียน ปริญญาตรี ควบปริญญาโท ใช้เวลาเรียนเพียง 4 ปี ครึ่ง ซึ่งการเรียนแบบเดิมกว่าที่นิสิตจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท อาจต้องใช้เวลาเรียน 6 ปีครึ่ง หรือ 8 ปี ตรงนี้เป็นความแปลกใหม่ เรียกว่าเป็น “นวัตกรรมทางการจัดการศึกษา” 

  

ในขณะเดียวกัน เราจะร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนมัธยมในการจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยเข้าไปจัดการห้องเรียนนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ในโรงเรียนที่มีความพร้อม หรือโรงเรียนเครือข่าย โดยพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาคุณครูสอนสังคมศาสตร์และสอนกฎหมายซึ่งการพัฒนาคุณครูจะชื่อมโยงกับการเรียนการสอนทุกช่วงวัยและเทียบโอนกลับมาเป็นหน่วยกิตมหาบัณฑิตด้านนิติศาสตร์ได้ในอนาคต และในขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคใต้มีนิสิตเข้ารับราชการหรือพนักงานราชการจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้จบปริญญาตรี และไปทำหน้าที่นิติกร ในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 กว่าคน โดยส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งนิติกรเหล่านี้มีความจำเป็นต้องพัฒนาสมรรถนะของตัวเองเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยทางคณะนิติศาสตร์สามารถเชื่อมโยงสู่การพัฒนาสมรรถนะให้มีการเทียบโอนกลับมาเป็นหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต อีกส่วนที่จะมุ่งทำคือ การเปิดหลักสูตรควบ 2 ปริญญา Double Degree โดย ความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา ผลิตครูสอนกฎหมาย หรือแม้แต่การเปิดหลักสูตร Double Degree นิติศาสตร์กับภาษาจีน ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สนใจเรียนหลักสูตรอินเตอร์ ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่ความร่วมมือผลิตหลักสูตรร่วมในภาษาอื่น ๆ ต่อไป  สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท คาดว่าจะเตรียมเปิดในปี 2568 นี้

ปัจจัยสนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรและนิสิต ที่คณะจัดเตรียม เพื่อเป้าหมายการผลิตบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ ในขณะนี้มีการปรับปรุงอาคาร 7 (สำนักงานอธิการบดี เดิม) ให้เป็นอาคารเรียนคณะนิติศาสตร์ มีการเปิดกลุ่มเรียนออนไลน์ ในลักษณะการจัดการสอนแบบซินโครนัสคือเรียนผ่านสื่อการเรียนออนไลน์ซึ่งจะเปิดทางไว้สำหรับนักเรียนที่จะสมัครเรียนโควต้าในการสอบTCAS และเพิ่มห้องไกล่เกลี่ยคดีความ ห้องปฏิบัติการด้านกฎหมาย คลินิกกฎหมายจะถูกฟื้นฟูให้กลับมาเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิต  ในขณะเดียวกันคณะนิติศาสตร์จะมีการเปิดศูนย์ความเป็นเลิศ 3 ศูนย์ได้แก่ ศูนย์นิติชาติพันธุ์ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทก่อนเข้าศูนย์กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีของผู้เรียน โดยได้รับการจดทะเบียนจากกรมคุ้มครองสิทธิ์ ในแต่ละปีจะผลิตผู้ไกล่เกลี่ยออกสู่สังคมปีละกว่า 50 คน และศูนย์กฎหมายธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งศูนย์นี้เหมาะสมกับผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเราจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ  

 

 และในส่วนของพื้นที่วิทยาเขตพัทลุง ได้รับความเอื้อเฟื้อพื้นที่สำหรับการจัดการเรียนการสอนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พยายามพัฒนาระบบนิเวศต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ทั้งห้องเรียนศาลจำลอง ห้องไต่สวน ห้องไกล่เกลี่ย ห้องปฏิบัติการทางกฎหมาย นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนโดยได้มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนเป็นรายวิชาเราจะไม่เพียงแค่ดึงมาทำหน้าที่วิทยากรแบบชั่วครั้งชั่วคราว ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ คณะนิสิตศาสตร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะมุ่งผลิตอาจารย์ที่ทำผลงานวิชาการจาก 40% ให้เพิ่มเป็น 80% ภายในระยะเวลา 4 ปี ในช่วงเวลาของการบริหารงาน

                      

ทั้งนี้จะมีการจัดการระบบนิเวศให้เหมาะสม และเกื้อหนุนให้คณาจารย์และนักวิจัยได้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มสมรรถนะ พร้อมทั้งอุดหนุนทุนสนับสนุนผลงานวิชาการของคณะนิติศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น จะผลักดันอย่างเต็มที่ ส่วนโครงสร้างด้านการบริหารงานองค์กร และผู้บริหารผมคิดว่าจริง ๆ การบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ เราจะต้องสร้างทีมบริหารใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาประสบการณ์การทำงานของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงาน ปัญหาของสถาบันการศึกษาที่พบบ่อยคือเราปราศจากการเทรนนิ่งผู้บริหารในอนาคต ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผมจะพยายามสร้างผู้บริหารใหม่ ๆ ในลักษณะ Train The Tranner ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีประสบการณ์ ผมพยายามสร้างความยั่งยืนให้กับคณะนิติศาสตร์ด้วยการสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ เทรนนิ่งผู้บริหารในอนาคต ในขณะเดียวกัน ก็ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์คอยแนะนำให้คำปรึกษา จึงเป็นรูปแบบการบริหารงานในลักษณะเรียนรู้จากประสบการณ์ของท่าน เพื่อปรึกษาในการต่อยอดงานใหม่ ๆ เป็นการประสานระหว่างประสบการณ์กับความเป็นคนรุ่นใหม่ให้ลงตัวมากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนคณะนิติศาสตร์ไปสู่เป้าหมายอย่างท้าทายในอนาคต