TSU

นิสิตมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจช่วงเดือนรอมฎอน สะท้อนภาพสังคมพหุวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยทักษิณแบบเกื้อกูล

   15 มี.ค. 67  /   69
นิสิตมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจช่วงเดือนรอมฎอน สะท้อนภาพสังคมพหุวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยทักษิณแบบเกื้อกูล
 

นิสิตมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจช่วงเดือนรอมฎอน สะท้อนภาพสังคมพหุวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยทักษิณแบบเกื้อกูล

 

“ที่นี่ยังอบอุ่นเหมือนเดิม มหาวิทยาลัยทักษิณ” คำโพสต์ของคุณครูมาลีนา เด่นมณี คุณครูโรงเรียนบ้านทุ่งไพล หมู่ที่ 1 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยทักษิณ  ที่เข้าไปคอมเม้นท์ภาพบรรยากาศการละหมาดตะรอเวียะห์ของนิสิตชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา สร้างความรู้สึกอบอุ่นในหัวใจ ในช่วงเวลานี้ อาคารละหมาด มหาวิทยาลัยทักษิณ  ดูคึกคักเป็นพิเศษในทุก ๆ ค่ำคืน น้องๆ นิสิต ชมรมมุสลิม หลั่งไหลมาปฏิบัติศาสนกิจ และละหมาดตะรอเวียะห์ในห้วงเดือนรอมฎอน เดือนแห่งความมหาจำเริญ บรรยากาศที่สงบ อบอุ่น และด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากนิสิตชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ให้ความอนุเคราะห์เสื่อสำหรับนิสิตชมรมมุสลิมได้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเรียบร้อย การเกื้อกูลซึ่งกันและกันในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ พื้นที่ของการเรียนรู้พหุวัฒนธรรมที่งดงาม โดยคณะผู้บริหารและหน่วยงานมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนด้วยดีมาโดยตลอด จะเห็นได้จากปัจจุบันที่มีอาคารละหมาดที่เป็นเอกเทศ แสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติ ของการอยู่รวมกันของนิสิตในสังคมพหุวัฒนธรรม  ที่มีความแตกต่างแต่ไม่เคยแตกแยก เพื่อให้นิสิต บุคลากร และบุคคลทั่วไป ใช้ประกอบศาสนกิจได้สะดวก และถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการสะท้อนภาพสังคมพหุวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยทักษิณแบบเกื้อกูลได้อย่างชัดเจน 

 

นายอิลยัส  อุมา ประธานชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้ข้อมูลว่า เดือนรอมฎอน ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม นิสิตชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมถือศีลอดและร่วมระหมาดตะรอเวียะห์ จนครบ 1 เดือน ซึ่งเป็นกระบวนการฝึกฝนจิตใจให้เป็นผู้มีสติ การถือศีลอดจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน ซึ่งในนามตัวแทนของชมรมมุสลิม ขอบพระคุณท่านผู้บริหาร มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่อำนวยความสะดวกด้านอาคารสถานที่สำหรับนิสิตได้ปฏิบัติภารกิจ และ ดูแลความเรียบร้อยให้การปฏิบัติศาสนกิจของนิสิตชมรมมุสลิมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

  

ภายหลังจากสำนักงานจุฬาราชมนตรี ประกาศให้ วันที่ 12  มีนาคม 2567  เป็นวันที่ 1 ของ "เดือนรอมฎอน" หรือ "เดือนบวช" ของพี่น้องมุสลิม มุสลิมทุกคนทั่วโลกจึงต้องรักษาศีล อดอาหารเพื่อฝึกฝนการบังคับตนเองและเพื่อให้เข้าถึงคำสอนของนบีมูฮัมหมัด รวมถึงใช้เวลาในการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการบูชาพระเป็นเจ้าตลอดเดือนรอมฎอน ในห้วงเวลา 29-30 วัน หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชาวมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจเพื่ออัลเลาะห์ ด้วยการอดอาหาร งดเว้นเครื่องดื่ม พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี รวมทั้งเข้มงวดระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนา ไม่กระทำใดที่ขัดต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้ ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย การปฏิบัติตนเพื่อละเว้นจากการกระทำดังกล่าวเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน และแสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกัน หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่น ๆ ด้วย การถือศีลอด เป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนทางอารมณ์ การถือศีลอด จึงเป็นกระบวนการฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมให้เป็นผู้มีสติ การถือศีลจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม