TSU

สนุกรู้ เสริมทักษะ การเขียนหนังสือราชการ เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง

   29 เม.ย. 67  /   42
SDGs ที่เกี่ยวข้อง
สนุกรู้ เสริมทักษะ การเขียนหนังสือราชการ เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง

หากเปรียบ “หนังสือราชการ” เป็นอาหารสักจาน ก็น่าจะจัดอยู่ในหมวดหมู่อาหารรสขมที่คนไม่น่าจะนิยมมากนัก แต่ตลอดวันนี้ (วันจันทร์ ที่ 29 เมษายน 2567) ณ ห้องประชุม 18410 ชั้น 4 อาคาร ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา กลับเต็มไปด้วยความสนุกและเสียงหัวเราะของบรรดาบุคลากร มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ในโครงการ "เสริมสร้างทักษะการเขียนหนังสือราชการ และการเกษียนหนังสือราชการ” ซึ่งจัดโดยฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยทักษิณ

     

งานนี้ขอยกความดีให้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ วิทยากรผู้ที่สามารถสื่อสารเรื่องยากให้ออกมาง่าย ถ่ายทอดเรื่องจริงจังให้ฟังดูสนุก สอนแบบลงลึกในรายละเอียด ตัวอย่างที่ยกมาประกอบก็เห็นภาพชัด ช่วยให้เข้าใจง่าย ทำให้ตลอด 7 ชั่วโมงในห้องประชุมเต็มไปด้วยการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะที่สนุกสนาน ที่สำคัญคือผู้เข้าอบรมสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้จริง และตลอดการอบรมได้มีการเพิ่มเติม เสริมความรู้จากผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ศุกระกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภามหาวิทยาลัย อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งช่วยเติมเต็มความรู้ในวันนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

    

เนื้อหาสาระการบรรยาย มีความหลากหลายครอบคลุมเกี่ยวกับหนังสือราชการ ทั้งในส่วนของความหมาย ความสำคัญ ประเภทองค์ประกอบ หลักการเขียนหนังสือราชการตามวัตถุประสงค์ต่างๆ การใช้ภาษาในการเขียนหนังสือราชการ รวมทั้งได้แบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการเขียน และการเกษียนหนังสือราชการ องค์ความรู้ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่หลักการเขียนหนังสือราชการ หากแต่เป็น “การฟื้นฟูทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษาไทย”  ที่สำคัญการเขียนหนังสือราชการไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในหน่วยงานราชการ หากแต่เป็นทักษะที่ทุกองค์กรต้องมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง ได้กล่าวไว้ว่า “หนังสือทุกฉบับที่ออกไป ล้วนแสดงถึงความรู้ ความสามารถ และบุคลิกภาพของผู้เขียน ทั้งน้ำใจ ความตั้งใจ มารยาทและจิตวิญญาณ”

     

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ศุกระกาญจน์ ได้ย้ำทิ้งท้ายถึงความจำเป็นในการเรียนรู้การเขียนหนังสือราชการไว้ว่า “ให้ทุกฝ่ายตระหนักและรอบคอบอย่างที่สุด แม้ว่าผู้ลงนามในหนังสือคืออธิการบดี หรือหัวหน้างานของส่วนงานนั้นๆ แต่เราทุกคนคือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เพราะหนังสือทุกฉบับมิได้เป็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ แต่สะท้อนถึงตัวองค์กรและบุคลากรด้วยเช่นกัน”