TSU

โลกเดือด คนป่วย ไข้เลือดออกระบาด

   25 มิ.ย. 67  /   35
โลกเดือด คนป่วย ไข้เลือดออกระบาด
 

เนื่องด้วยช่วงนี้ในหลายพื้นที่ มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝน ทำให้ผู้อ่านหรือคนใกล้ตัวหลาย ๆ ท่าน มีอาการป่วยไข้กันอยู่บ้าง พอลองนึกย้อนกลับไปปีที่แล้ว (2566) ในช่วงเดียวกันนี้ เกิดการระบาดของไข้เลือดออกอย่างรุนแรงในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเกือบหนึ่งแสนหกหมื่นคน ซึ่งพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝนประมาณเดือน กรกฎาคม ถึง กันยายน แล้วมันเกิดอะไรขึ้นถึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากขึ้นกว่าในอดีต บทความนี้จึงอยากจะชวนทุกท่านมาร่วมหาคำตอบและเรียนรู้ไปด้วยกัน...

 

โดยปัจจุบันนักวิจัยพบว่า “ภาวะโลกร้อน” หรือ “ภาวะโลกเดือด” อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของไข้เลือดออก ตัวอย่างเช่น ในประเทศที่อากาศหนาวเย็นอย่าง ภูฏาน และเนปาล เริ่มมีรายงานการพบผู้ป่วยไข้เลือดออก เนื่องจาก “ยุงลาย” สัตว์พาหะนำโรคนี้ ชอบอากาศอบอุ่นร้อนชื้น

     เมื่อโลกร้อนขึ้นยุงลายก็เติบโตแพร่ขยายพันธุ์ดีขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น เร็วขึ้น เพราะระยะฟักตัวจากไข่กลายเป็นตัวเต็มวัยสั้นลง และยุงยังมีอายุที่ยืนขึ้น สามารถกัดคนและแพร่เชื้อได้นานขึ้น

ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever) คืออะไร?

     เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็นไวรัสในแฟมิลีฟลาวิวิริดี (Flaviviridae) จีนัสฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ไวรัสนี้เป็นไวรัสในกลุ่มที่ 4 (Group IV) [กลุ่มเดียวกับ SARS-CoV2 ไวรัสสาเหตุของโรค Covid-19] สารพันธุกรรมเป็น RNA เส้นเดี่ยวชนิดเส้นบวก ซึ่งไวรัสเดงกีที่ก่อโรคไข้เลือดออกประกอบด้วย 4 สายพันธุ์ (1, 2, 3 และ 4) ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้วคนเราสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่การป่วยจากการติดเชื้อครั้งหลัง ๆ อาการจะหนักขึ้นกว่าครั้งแรก

ไวรัสนี้มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นสัตว์พาหะ (animal vector) 

     ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะอาจจะไม่แสดงอาการป่วยใดๆ เลยก็ได้ หรืออาจแสดงอาการป่วย ซึ่งแบ่งการป่วยออกได้เป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ 1. ไข้เดงกี (Dengue fever) 2. ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) และ 3. กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อค (Dengue shock syndrome) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วย

นอกจากยุงลายจะเป็นพาหะของ Dengue virus แล้ว เจ้ายุงเหล่านี้ยังเป็นพาหะของไวรัสก่อโรคอีก 2 ชนิด คือ Chikungunya virus และ Zika virus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้ปวดข้อ และ ไข้ซิก้า ตามลำดับ 

     ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน (แต่ไม่เป็นที่นิยม) โดยมีชื่อทางการค้าคือ Dengvaxia ผลิตโดยบริษัท Safoni Pasteur เป็นวัคซีนตัวแรกที่ขึ้นทะเบียน อนุมัติให้ใช้ได้ในประเทศไทย  (และหลายๆ ประเทศทั่วโลก) ต้องฉีดจำนวน 3 โดส ระยะคุ้มครอง 4 ปีหลังจากรับเข็มสุดท้าย แนะนำสำหรับผู้มีอายุระหว่าง 9-45 ปี มีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดอาการของโรค (symptomatic dengue disease) ที่เกิดจากการติดเชื้อเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ประมาณ 66% และป้องกันการเกิดไข้เลือดออกในระดับรุนแรง (severe dengue disease) ได้ถึง 93%

---------------------------

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง 

Dengue virus เดงกีไวรัส ไวรัสสาเหตุของโรคไข้เลือดออก 
Aedes aegypti ชื่อวิทยาศาสตร์ของ ยุงลายบ้าน 
Aedes albopictus ชื่อวิทยาศาสตร์ของ ยุงลายสวน 
Dengue fever ไข้เดงกี 
Dengue hemorrhagic fever ไข้เลือดออกเดงกี 
Dengue shock syndrome กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อค

หมายเหตุ: ไข้เลือดออก (hemorrhagic fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด ดังนั้นการระบุว่าเป็นไข้เลือดออกที่เกิดจากไวรัสเดงกี ต้องมีคำว่า Dengue (เดงกี) ประกอบเสมอ