TSU

อาจารย์ HUSO ม.ทักษิณ ร่วมวงเสวนาภาษาถิ่น ภาษาไทย มรดกภูมิปัญญามลายูชายแดนภาคใต้ วันภาษาไทยแห่งชาติ 2567 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

   12 ส.ค. 67  /   11
SDGs ที่เกี่ยวข้อง
อาจารย์ HUSO ม.ทักษิณ ร่วมวงเสวนาภาษาถิ่น ภาษาไทย มรดกภูมิปัญญามลายูชายแดนภาคใต้ วันภาษาไทยแห่งชาติ 2567 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

อกสารโบราณประเภทสมุดไทย ใบลาน และสมุดฝรั่ง เป็นเอกสารที่บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เช่น หลักธรรมคําสอนทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร วรรณกรรม ตํานาน ฯลฯ จึงนับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่ง ที่นอกจากจะมีข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนในอดีตในด้านต่าง ๆ แล้วยังบรรจุนัยทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ การติดต่อระหว่างกลุ่มคน หรือประวัติการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนผู้เป็นเจ้าของเอกสารโบราณได้  

ในโอกาสอันดี เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ. 2567 โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายเอกสารโบราณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการเอกสารโบราณ “ภาษาถิ่น ภาษาไทย ในเอกสารโบราณ...พลัดถิ่น” ขึ้น ในวันที่ 5 - 6 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่อให้สังคมได้ทราบและตระหนักรู้ถึงข้อมูลความรู้และความสําคัญของเอกสารโบราณพลัดถิ่น ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และการอพยพ เคลื่อนย้ายของผู้คน ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวงวิชาการและผู้ปฏิบัติการด้านเอกสารโบราณในประเทศไทย

     

ตลอดสองวันของกิจกรรมเสวนาฯ มีนักวิชาการจากสถาบันชั้นนำระดับประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ และปราชญ์ชาวบ้านให้เกียรติร่วมเสวนาอย่างคับคั่ง อัดแน่นไปด้วยข้อมูล องค์ความรู้ หลากหลายหัวข้อ หลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ “อักษรมอญในประเทศไทย” , “เพื่อนใหม่กับงานด้านเอกสารโบราณ”, “คน ชุมชน กับงานเอกสารโบราณ”, “เอกสารโบราณและการพลัดถิ่น: การส่งต่อความรู้ประสบการณ์”, “เอกสารโบราณ มรดก ผู้คน และอัตลักษณ์” (ของอักษรธรรรมล้านนาในลาว, อักษรธรรมอีสานในพิษณุโลก, คัมภีร์ใบลานไทยวนในวัดใหม่นครบาล)  

    

และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง สำหรับผู้ช่วยศาสตราจารย์มูหำหมัด  สาแลบิง อาจารย์ประจำสาขาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ได้รับเกียรติให้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “มรดกภูมิปัญญามลายูชายแดนภาคใต้” โดยมี ดร. ยูเนียนสาสมีต้า สาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคุณอับดุลฮันนาน มาหะมะ นักวิชาการอิสระ ร่วมเสวนา และดําเนินรายการ โดย คุณสุนิติ จุฑามาศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่จะขับเคลื่อนเครือข่ายเอกสารโบราณในประเทศไทย ทั้งในแง่วิชาการ การจัดการและการอนุรักษ์เอกสารโบราณของไทย ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยาวนาน