TSU

ฝีดาษลิงคุกคามแอฟริกา : สถานการณ์นี้น่ากังวลแค่ไหนและโรคนี้แพร่กระจายได้อย่างไร?

   17 ส.ค. 67  /   14
ฝีดาษลิงคุกคามแอฟริกา : สถานการณ์นี้น่ากังวลแค่ไหนและโรคนี้แพร่กระจายได้อย่างไร?
 

ฝีดาษลิง (monkeypox) หรือ โรคเอ็มพอกซ์ (mpox) กำลังแพร่กระจายแอฟริกาจนทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิงในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกามีสถานะเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ สถานการณ์นี้น่ากังวลแค่ไหนและโรคนี้แพร่กระจายได้อย่างไร?

 

ฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ปกติพบเฉพาะในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศคองโก แต่จากข่าวที่ชวนให้ตื่นตระหนกไปทั่วโลกคือ มีการพบผู้ติดเชื้อนอกพื้นที่ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่แอฟริกา ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย หลายประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ ใกล้สุดบ้านเราก็ที่กัมพูชา

จำนวนผู้ติดเชื้อในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2567) มีจำนวน 38,465 คน เสียชีวิต 1,456 คน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2566 และ 2567 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 160% สำหรับประเทศไทย พบเคสแรกที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2565 โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวไนจีเรีย ปัจจุบัน (สิงหาคม 2567) พบผู้ติดเชื้อรวม 822 คน กว่าครึ่งพบที่กรุงเทพมหานคร

ฝีดาษลิง เกิดจาก monkeypox virus เป็นไวรัสที่มีเปลือก สารพันธุกรรมของไวรัสเป็นดีเอ็นเอ (enveloped DNA virus) จัดอยู่ในสกุล Orthopoxvirus ซับแฟมิลี Chordopoxivirinae แฟมิลี Poxviridae เป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรค ฝีดาษวัว (cowpox) ฝีดาษม้า (horsebox) และฝีดาษคน/ไข้ทรพิษ (smallpox)

แหล่งข้อมูล :  https://thesecondangle.com/monkeypox-virus-and-its.../

การติดต่อ:
     - ติดต่อผ่านทางสัตว์ที่ติดเชื้อ ทั้งลิงและสัตว์ฟันแทะ (rodents) ผ่านทางการถูกัด/รอยข่วน และการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าที่ติดเชื้อ
     - ติดต่อผ่านผู้ติดเชื้อโดยการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ผ่านสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ หรือสัมผัสกับแผลหรือรอยโรค และเพศสัมพันธ์

อาการ:
     - ไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ตุ่มผื่นตามผิวหนัง/แผล ระยะเวลาป่วยประมาณ 2-3 สัปดาห์ ที่ประเทศคองโกพบอัตราการป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 5

การป้องกัน:
     - หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วย เช่น ลิง และ สัตว์ฟันแทะ (หนู กระรอก ฯลฯ) ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ดิบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่สัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล/ตุ่มหนอง ของผู้ป่วย ฉีดวัคซีนป้องกัน (กลุ่มเสี่ยง)

ท้ายนี้ขอย้ำว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ หรือโรคอุบัติใหม่ ไม่ต้องตื่นตระหนก มียาต้านไวรัสและมีวิธีรักษา วัคซีนที่ใช้สำหรับฝีดาษคนก็สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ (ปัจจุบันเด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนตัวนี้) จำนวนผู้ป่วยที่รายงานในแต่ละประเทศก็ยังไม่สูงจนควบคุมไม่ได้ (นอกจากในทวีปแอฟริกา)

แหล่งข้อมูล : https://x.com/MarionKoopmans/status/1821623395844264286/photo/1