TSU

TSU Social Innovation and Human Resources Policy ม.ทักษิณ มุ่งเป้าปลดล็อคองค์กรสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

   5 ก.ย. 67  /   38
TSU Social Innovation and Human Resources Policy ม.ทักษิณ มุ่งเป้าปลดล็อคองค์กรสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

 

ภายหลังจากที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้เริ่มดำเนินการนำร่องโครงการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Re-inventing University) มาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน เพื่อต้องการให้สถาบันอุดมศึกษามีการปฏิรูประบบการบริหาร ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและ การเรียนการสอนให้ทันสมัย เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม การผลิตกำลังคน ที่มีคุณภาพสูง โดยการส่งเสริมสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษามีความเป็นเลิศตามจุดแข็งของสถาบันอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ สร้างจุดต่างตามความถนัดและมีความหลากหลายตามพันธกิจและความเชี่ยวชาญ ภายใต้กลไก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่  การพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอน  การพัฒนาและแสวงหาบุคลากร  ความเป็นนานาชาติ   การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม  การสร้างแพลทฟอร์มความร่วมมือ       

         

มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยการนำของรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่มีความมุ่งมั่นและมีวิสัยทัศน์ในการนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยภายใต้นโยบายการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุมแสงสุริยา อาคารปฏิบัติการวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และห้องเรียน MF3200 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล จัดกิจกรรม TSU Social Innovation and Human Resources Policy  HR โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมบรรยาย เรื่อง Transformation for Social Innovation เปลี่ยนผ่านการบริหารงานบุคคลเพื่อนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยทักษิณ  ซึ่งภายหลังจากที่ มหาวิทยาลัยทักษิณได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยทักษิณ อยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม นับเป็นความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยเฉพาะพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีภายใต้ศาสตร์และศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยทักษิณมีอยู่มาบูรณาการข้ามศาสตร์  ปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน  เปิดทางเลือกใหม่ ๆ ของการเรียนรู้ ในลักษณะหลักสูตร 2 ปริญญา  เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงานมากขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ทบทวนเรื่องการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย และได้มีข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลัง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนนิสิต จำนวนอาจารย์ และหลักสูตรใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงกรอบอัตราค่าตอบแทนของพนักงานและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยได้กำหนดอัตราเงินเดือนใหม่พนักงานแรกเข้าบรรจุในเดือนตุลาคมนี้     

    

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ศุกระกาญจน์  รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภามหาวิทยาลัย  ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลยุคใหม่และการปรับปรุงระบบค่าตอบแทน สำหรับการปรับปรุงเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป ทั้งนี้ยึดหลักความยุติธรรมภายในองค์กร  ความสามารถแข่งขันได้ โดยใช้ระบบค่าตอบแทนเป็นแรงบันดาลใจ