TSU

นักรบจิ๋วในตัวเรามีชื่อว่า: โพรไบโอติก

   5 ต.ค. 67  /   17
นักรบจิ๋วในตัวเรามีชื่อว่า: โพรไบโอติก
 

ในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น คำว่า "โพรไบโอติก" กลายเป็นคำที่ได้ยินบ่อยในวงการอาหารเพื่อสุขภาพ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า โพรไบโอติกไม่ใช่แค่ส่วนผสมในโยเกิร์ตหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น แต่พวกมันคือ "นักรบจิ๋ว" ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราตั้งแต่เกิด โพรไบโอติกเปรียบเสมือนกองทัพจุลินทรีย์ที่มีชีวิต คอยทำหน้าที่ปกป้องและเสริมสร้างสุขภาพของเราจากภายใน โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร พวกมันไม่เพียงแต่ช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ต่อสู้กับเชื้อโรค และรักษาสมดุลในร่างกายของเรา ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับโพรไบโอติกอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ความหมาย ประโยชน์ แหล่งที่พบ ไปจนถึงวิธีการเลือกและบริโภคอย่างถูกต้อง เพื่อให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จาก "นักรบจิ๋ว" เหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก

 

โพรไบโอติก (Probiotic) คืออะไร
โพรไบโอติก (Probiotic) ตามนิยามโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย หมายถึงจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกจะต้องได้รับการอนุมัติจากอย. และต้องมีจุลินทรีย์ที่มีชีวิตคงเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 1,000,000 Colony Forming Unit (CFU*) ต่อ 1 กรัมของอาหารตลอดอายุการเก็บรักษา

โพรไบโอติกมีประโยชน์อย่างไร
โพรไบโอติกมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยและดูดซึมอาหาร ช่วยยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรค ปรับสมดุลในลำไส้ สังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นและส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยการทำงานของโพรไบโอติกจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ สารที่จุลินทรีย์ผลิตได้ และบริเวณที่จุลินทรีย์นั้นอาศัยอยู่ นอกจากนี้ โพรไบโอติกยังใช้ในการป้องกันและรักษาภาวะลำไส้แปรปรวน ท้องผูกเรื้อรัง และภาวะลำไส้อักเสบที่เกิดจากการได้รับยาปฏิชีวนะโดยโพรไบโอติกจะช่วยให้ภาวะเหล่านี้ดีขึ้น

โพรไบโอติกอยู่ที่ไหน?
ในร่างกาย: 
โพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งมีอยู่ในระบบต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ใหญ่ จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่พบได้บ่อยในร่างกายได้แก่ Lactobacillus และ Bifidobacterium ซึ่งสามารถทนต่อกรดในกระเพาะอาหารและน้ำดี จึงสามารถเดินทางไปยังลำไส้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำหน้าที่ปกป้องลำไส้จากเชื้อก่อโรค นอกจากนี้ยังพบจุลินทรีย์โพรไบโอติกในส่วนอื่น ๆ เช่น ในช่องปาก ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ และช่องคลอด
ในอาหารหมักและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโพรไบโอติก: โพรไบโอติกยังพบได้ในอาหารที่ผ่านการหมัก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ถั่วเหลืองหมัก ชาหมักคอมบูชะ และกิมจิ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโพรไบโอติกทั้งในรูปแบบจุลินทรีย์ชนิดเดี่ยวและชนิดผสม ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยโพรไบโอติก เช่น อาหารเสริม จะต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติโพรไบโอติกและผ่านการประเมินความปลอดภัยทั้งในระดับหลอดทดลอง (in vitro) และในสิ่งมีชีวิต (in vivo) ก่อนนำไปใช้ในมนุษย์

กินโพรโบไอติกเป็นประจำได้ไหม?
เราสามารถบริโภคโพรไบโอติกได้เป็นประจำ เนื่องจากร่างกายคุ้นเคยกับจุลินทรีย์เหล่านี้มาตั้งแต่กำเนิด การรับประทานโพรไบโอติกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่อาจเข้ามายึดเกาะเซลล์ และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกบริโภคโพรไบโอติกที่ดีควรเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยสำหรับมนุษย์ และยังคงมีชีวิตอยู่ตลอดอายุการเก็บรักษาในปริมาณไม่น้อยกว่า 1 ล้าน CFU ต่อ 1 กรัมอาหาร  แม้ว่าโพรไบโอติกจะเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีข้อควรระวังในการกินอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่กินยากดภูมิ ผู้ที่รับยาเคมีบำบัด ควรกินโพรไบโอติกภายใต้คำแนะนำของแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอาจทำให้มีอาการท้องอืด ท้องผูก แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือรู้สึกกระหายน้ำ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการกินโพรไบโอติก แต่หากมีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้องอย่างรุนแรง ควรหยุดกินโพรไบโอติกทันทีและรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

หลักการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก
หลักการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติก ควรสังเกตจากฉลาก โดยควรมีข้อมูลสำคัญดังนี้ 1) ระบุสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่ชัดเจน 2) ระบุปริมาณโพรไบโอติกเป็นค่า CFU (Colony Forming Unit) 3) ระบุวิธีการรับประทาน 4) ระบุวิธีการเก็บรักษา 5) มีเลขที่จดแจ้ง อย. พร้อมชื่อบริษัทและที่อยู่ผู้ผลิต 6) ระบุวันหมดอายุอย่างชัดเจน
*หน่วยที่ใช้ตรวจนับปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหาร โดยโคโลนีที่นับได้จะปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนจุลินทรีย์ (colony-forming units: CFU)  

เอกสารอ้างอิง
Hill C, Guarner F, Reid G, Gibson GR, Merenstein DJ, Pot B, Morelli L, Canani RB, Flint HJ, Salminen S, Calder PC. Expert consensus document: The International Scientific Association for Probiotics and Prebiotics consensus statement on the scope and appropriate use of the term probiotic. Nature reviews Gastroenterology & hepatology. 2014.
Liang D, Wu F, Zhou D, Tan B, Chen T. Commercial probiotic products in public health: Current status and potential limitations. Critical Reviews in Food Science and Nutrition. 2024 Jul 25; 64(19):6455-76.