TSU

รวงข้าวสีทอง ข้างตึกวิศวะ ม.ทักษิณ พื้นที่สร้างการเรียนรู้และสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน

   21 ม.ค. 67  /   98
จากพื้นที่นาร้างบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้กลายเป็นทุ่งรวงทองสีเหลืองส่องอร่ามที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นข้าวอีกครั้ง เป็นการเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ฟื้นฟูรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนที่เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังเป็นสร้างพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ (Learning Space) สำหรับนักเรียนและนิสิตด้านการเกษตรที่นำเอาความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และหมุดหมายของมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนา
 

จากพื้นที่นาร้าง กลายเป็นทุ่งรวงทองสีเหลืองส่องอร่ามที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นข้าวอีกครั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร แก้วอ่อน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้กล่าวกับทีมงานสื่อสารและเล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำนาในพื้นที่ข้างตึกวิศวะว่า แรกเริ่มสถาบันปฏิบัติการชุมชนและการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้เข้ามาขอใช้พื้นที่ทำแปลงนาสาธิตเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงสำหรับรายวิชาศึกษาทั่วไป แต่หน่วยงานได้มีการปรับโครงสร้าง ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงรับช่วงสานต่อการทำงานโดยมาร่วมกับโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งสนับสนุนโครงการวิจัยโดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บพท. อำเภอป่าพะยอม และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง ในการส่งเสริมให้ครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ทำการเกษตรภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยจำนวน 20 ครัวเรือนเพื่อสร้างแหล่งอาหารด้านการเกษตร พัฒนาทุนด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนได้ โดยใช้พื้นที่บริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยพื้นที่แห่งนี้มีขนาดประมาณ 3 ไร่ กลุ่มตั้งใจว่าจะทำเป็นพื้นที่การทำนาข้าวร่วมกับการเลี้ยงปลานิล          

รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร กล่าวต่อว่า ได้มีการออกแบบพื้นที่เพื่อการปลูกข้าวร่วมกับการเลี้ยงปลานิลจำนวน 4,000 ตัว โดยขุดบ่อรอบพื้นที่นามีความกว้างและลึก 1.5 เมตร นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบควบคุมระดับน้ำเพื่อให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวซึ่งสามารถทำนาได้ตลอดทั้ง การปลูกข้าวรอบแรกข้าวในนามีอายุครบ 90 วันแล้ว โดยคาดว่าจะมีการวางแผนการเก็บเกี่ยวภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้รายได้จากผลผลิตทั้งหมดจะให้กับกลุ่มครัวเรือนเป้าหมายที่มาร่วมช่วยดำเนินการได้แบ่งปันกัน

    

 

    

หัวใจสำคัญของการทำงานคือ การเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ฟื้นฟูรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนที่เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังเป็นสร้างพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ (Learning Space) สำหรับนักเรียนและนิสิตด้านการเกษตรที่นำเอาความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และหมุดหมายของมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนา (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้งเป้าหมายที่ 1 และ 2  ที่เน้นเรื่องการขจัดความยากจนและความหิวโหย การสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร แก้วอ่อน
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ