TSU

มหาวิทยาลัยทักษิณ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้

   1 ธ.ค. 65  /   144
มหาวิทยาลัยทักษิณ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้
 

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมหารือและรายงานสรุปแนวทางการขับเคลื่อนและสนับสนุน การดําเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคใต้ กับศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

     โดยรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รายงานสรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวง อว. ภายใต้บทบาทของมหาวิทยาลัยทักษิณในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ภายในแนวคิด TSU Innovation movement โดยเฉพาะการประกาศพื้นที่นวัตกรรมใน 4 พื้นที่หลัก จังหวัดสงขลา คาบสมุทร พื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย

     1.การขับเคลื่อนงานบริการวิชาการภายใต้แนวคิด TSU2T และ TSU for BCG โดยเฉพาะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ตำบลกว่า 99 ตำบล ของจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง เริ่มต้นด้วยความคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของชุมชน โครงการดังกล่าวเกิดการจ้างงานในพื้นที่และทำให้ประชาชนรู้จักเข้าใจ อว. มากขึ้น เรื่องของศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณ มีสถาบันทักษิณคดีศึกษา เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านคาบสมุทรเศรษฐกิจสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยการทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นพื้นที่กลางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่นโนรา ควายปลักทะเลน้อย ซึ่งได้รับการจัดตั้งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย นักวิจัยของมหาวิทยาลัยทักษิณมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนและทำให้เกิดการวิจัยในพื้นที่เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของคาบสมุทร

     2.การสนับสนุนเชิงนโยบายโดยเฉพาะนโยบายของกระทรวง อว. การผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด มหาวิทยาลัยทักษิณผลิตหน้ากากอนามัย นาโนแมส หรือการสนับสนุนการผลิตพืชสมุนไพรในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในสภาวะขาดแคลน มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมมือกับจังหวัดพัทลุงในการผลักดันเรื่องเมืองสมุนไพรแบบครบวงจร ได้จัดทำแผนเมืองสมุนไพรแบบครบวงจรสำเร็จ และอยู่ในช่วงของการผลักดันแผนการพัฒนาเข้าสู่ระดับจังหวัด เป้าหมายสำคัญคือ อว.ส่วนหน้าทำให้เกิดองค์ความรู้ขับเคลื่อนเพื่อทำให้เกิดแผนพัฒนาระดับจังหวัด โดยเฉพาะผลงานเรื่องการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นโครงการดีเด่นของ อปท. โดยเฉพาะช่วยเหลือกลุ่มคนยากจน หรือกลุ่มคนที่โดนกีดกันไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลภาครัฐโดยการดึงกลุ่มคนเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบให้พวกเขาได้เข้าถึงการช่วยเหลือต่างๆ จากทางภาครัฐซึ่งมีการขานรับจากพื้นที่ จะมีหน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดพัทลุงมาทำงานร่วมกัน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยังได้ทำโครงการสวัสดิการเกื้อกูลคนเมืองลุงไม่ทิ้งกัน ทำให้คนจนที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลและนอกระบบฐานข้อมูลเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐ โดยเข้ามาอยู่ในระบบสวัสดิการเกื้อกูลคนเมืองลุงไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นโมเดลที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานในอนาคต

     3.การสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจฐานราก โครงการผลักดันเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น โดยเฉพาะโนรา องค์ประกอบของการวิจัยและนวัตกรรม ผสมผสานเข้ากับองค์ความรู้ของท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ เช่น การย้อมสีกระจูดด้วยควายปลัก โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านเคมีเข้ามา การหารือกับอาจารย์ทางด้านสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ทำการวิจัย วิเคราะห์ใช้แนวทางผสมผสานระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ กับองค์ความรู้ท้องถิ่น ผลที่เกิดขึ้นคือการได้สีย้อมกระจูดจากควายปลักที่สวยงาม เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และมีการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปทดสอบตลาดในต่างประเทศโดยความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตไทยในประเทศสิงคโปร มีการนำผลิตภัณฑ์โนราไปจำหน่ายผลตอบรับด้านการตลาดต่างประเทศในระดับดี และได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กระจูด

     4.ทิศทางนโยบายของกระทรวง อว.ในเชิงวิสัยทัศน์และการผลักดัน BCG สู่เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การพบเจอขุมพลังมหาศาลของฐานรากที่สามารถสนับสนุนและสร้างศักยภาพ ววน. ได้ นโยบายของ อวน. โดยการผลักดันให้เกิดอุทยานวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมสังคม มีการพยายามผลักดันให้เกิดการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม คือเป็นหน่วยงานที่เป็นพื้นที่กลางของการบูรณาการความรู้ ระหว่างความเป็น ววน. กับองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยใช้กระบวนการ reskill upskill cross skill. กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือ กลุ่มคนนอกการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่ม SME เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในอนาคตคาดว่าจะมีอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในพื้นที่ ที่จะยกระดับองค์ความรู้จากภูมิปัญญา และได้มีการผลักดันโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย และภูมิปัญญาตะวันออกโดยความร่วมมือของเครือข่ายแพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคมในการดูแลเรื่องสุขภาพเป็นการแพทย์เชิงรุกในการเข้าถึงด้านสาธารณสุขของประชาชน และมุ่งสร้างสรรค์ด้านนวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ มีสาขาการแพทย์แผนไทย คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มีการจัดตั้งกลุ่มภูมิปัญญาเครือข่ายแพทย์แผนไทย ทำการปริวัติหนังสือบุด 108 ตำราภูมิปัญญาจากชาวใต้ ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งมีองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพอยู่มากมาย ดังนั้นโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยจึงเป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการวิจัยกับองค์ความรู้ด้านสุขภาพซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวง อว.

     ทั้งนี้ รมต. อว. รับทราบผลการดำเนินงาน และบทบาทของมหาวิทยาลัยทักษิณต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนพื้นที่ภาคใต้พร้อมแนะนำและมอบแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทักษิณต่อการขับเคลื่อนสนับสนุนนโยบายของกระทรวง อว. ในอนาคต