TSU

วช. ชูข้าวสังข์หยดพัทลุง จากงานวิจัย ม.ทักษิณ สู่แบรนด์ อาหาร-เครื่องสำอาง

   21 พ.ย. 65  /   206
วช. ชูข้าวสังข์หยดพัทลุง จากงานวิจัย ม.ทักษิณ สู่แบรนด์ อาหาร-เครื่องสำอาง
 

 “ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจากข้าวสังข์หยดอินทรีย์ พัทลุง” ผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวในเวที NRCT Talk ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องในโอกาส วช. ครบรอบ 63 ปี นำโชว์ผลงานโดดเด่นที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. มาเผยแพร่ความรู้ สู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม หวังประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ให้แก่ประชาชนทั่วไป

 

        ดร.พรวิชัย เต็มบุตร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ในฐานะคณะผู้วิจัยเจ้าของผลงาน เผยที่มาของสินค้าผลผลิตจากข้าวสังข์หยด ว่า นอกจากข้าวสังข์หยด จะเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดพัทลุงแล้ว ยังนับได้ว่า เป็นข้าวที่มีคุณค่ากับสุขภาพมาก นักวิจัยจึงทำการศึกษาค้นจุดเด่นและช่วยชาวบ้านต่อยอด โดยจากคุณทางทางโภชนาการที่พบว่า ข้าวสังข์หยดมีวิตามินบี สังกะสีสูง และให้พลังงานต่ำ เป็นสารสีแดงที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เป็นรงควัตถุประเภทฟลาโวนอย ชนิดมีสารแอนโทไซยานินอยู่ในเยื่อชั้นนอกของข้าว ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระได้ดี ชะลอความชรา และลดความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น หัวใจ โรคระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทั้งยังมีสารไนอะซินสูง ช่วยในเรื่องของระบบประสาทและผิวหนัง และมีสารแคลเซียมและฟอสฟอรัส ฯลฯ ซึ่งสรุปรวมได้ว่า ข้าวสังข์หยดดีต่อสุขภาพและผิวหนัง

        นี่จึงเป็นที่มาให้มีการต่อยอด เกิดโครงการ ‘การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานชุมชน’ ขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ข้าวสังข์หยดของชุมชนนำสู่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง เห็นได้จาก ผลิตภัณฑ์ต้นแบบโจ๊กข้าวกล้องสังข์หยดสำเร็จรูปปรุงรส และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคลีนซิ่งออยล์ ซึ่งได้มาจากวัตถุดิบที่เหลือจากการขาย ทั้งส่วนที่เป็นข้าวหักท่อน (ทำผลิตภัณฑ์อาหาร) และรำข้าว (ทำเครื่องสำอาง) เป็นต้น ก่อนจะต่อยอดสู่การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และ อย.

        ดร.เอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการ วช. ประธานในกิจกรรม กล่าวว่า ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยด ขยายระดับการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ในระดับที่สูงขึ้น อาศัยความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนที่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยดในจังหวัดพัทลุง ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการนำองค์ความรู้มาเป็นหน่วยขับเคลื่อนประสานงาน สนับสนุนและสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ จากการแปรรูปข้าวสังข์หยดให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มความรู้ให้แก่ประชาชนในจังหวัดยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

        ดร.เอนก กล่าวด้วยว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เป็นข้าวสายพันธุ์แรกที่ได้คำประกาศรับรองให้เป็น ‘สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ หรือข้าวจีไอ (GI) การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปในกลุ่มอาหาร เช่น แป้งข้าวสังข์หยด ขนมอบ หรืออาหารแปรรูปจากข้าวสังข์หยด หรือในกลุ่มเครื่องสำอาง เป็นเป็นความสำเร็จตามแผนผลักดันให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้ข้าวสังข์หยดในการขับเคลื่อน มีการผลักดันจนประสบความสำเร็จ เกิดธุรกิจเชิงสังคม ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะที่พัทลุง ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นพื้นที่ยากจนแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่มีของดีเยี่ยมอย่างข้าวสังข์หยด เกิดการส่งเสริม-พัฒนา-ต่อยอด เรียบร้อยแล้ว คงเหลือเพียงการประชาสัมพันธ์ และทำตลาด ขยายทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังต้องการความร่วมมือต่อไป