TSU

อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม ม.ทักษิณ จับมือพาณิชย์จังหวัดและบริษัทส่งออก ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากล้วยหอมทองไทยสู่ตลาดญี่ปุ่น

   30 พ.ย. 66  /   100
อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม ม.ทักษิณ จับมือพาณิชย์จังหวัดและบริษัทส่งออก ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากล้วยหอมทองไทยสู่ตลาดญี่ปุ่น
 

อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง และบริษัท พาต้า อินเตอร์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จัดโครงการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากล้วยหอมทองไทยสู่ตลาดญี่ปุ่น ปี 2567 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดยมี นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงโตเกียว และผู้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ให้เกียรติเดินทางลงพื้นที่เข้าร่วม ณ พื้นที่จังหวัดพัทลุง และ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

 

     ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จัดกิจกรรม ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับคณะอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงโตเกียว และผู้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมกล่าวเปิดกิจกรรมและกล่าวนโยบายของมหาวิทยาลัยทักษิณด้านการส่งเสริมสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม กล่าวรายงานกิจกรรม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 119 คน ประกอบด้วยผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน อาจารย์นักวิจัย ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร อำเภอเมือง อำเภอควนขนุน อำเภอป่าพะยอม อำเภอศรีนครินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียง

     การจัดกิจกรรมครั้งนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง และบริษัท พาต้า อินเตอร์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ได้นำคณะทูตพาณิชย์ไทยประเทศญี่ปุ่นและผู้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาให้ความรู้ทั้งด้านการผลิต การปลูก และด้านบรรจุภัณฑ์ ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับคุณภาพการผลิตกล้วยหอมทองของจังหวัดพัทลุง เพื่อมาตรฐานการส่งออกกล้วยหอมทองของจังหวัดพัทลุง ไปสู่ตลาดประเทศญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป
โดยมีวัตถุประสงค์โครงการ
1. เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่การเพาะปลูกกล้วยและเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง
2. เพื่อบรรยายให้ความรู้ด้านการปลูก การตลาด และการส่งออกกล้วยหอมทองตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ
3. เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ในการยกระดับคุณภาพการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกของจังหวัดพัทลุง
4. เพื่อขยายตลาดส่งออกกล้วยหอมทองในจังหวัดพัทลุงไปยังประเทศญี่ปุ่น

     สำหรับกล้วยหอมทอง เป็นสินค้าการเกษตรที่อยู่ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (STEPA) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยหอมทองจากประเทศไทย เป็นจำนวน 8,000 ตันต่อปี แต่ปรากฎว่าที่ผ่านมาไทยใช้โควต้าดังกล่าวไม่เกิน 3,000 ตันต่อปี จึงยังคงเหลือโควต้าการส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นถึง 5,000 ตันต่อปี เป็นอย่างต่ำ ประกอบกับกล้วยหอมทองจากประเทศไทยมีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่าประเทศ คาดการว่าผลิตภัณฑ์กล้วยหอมไทย จะมีมูลค่าทางการตลาดถึงกว่า 1,000 ล้านบาท การควบคุมคุณภาพกล้วยหอมทองไทยให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดประเทศญี่ปุ่นต้องการจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ปลูกหอมทองรายใหญ่ และมีคุณภาพของประเทศ จึงเป็นที่มาของอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงโตเกียวได้นำผู้ซื้อ ผู้นำเข้า จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาให้ความรู้ด้านการผลิต การปลูก และด้านบรรจุภัณฑ์ ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง พร้อมเยี่ยมชมแหล่งปลูกกล้วยหอมทองและหารือความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ในการยกระดับคุณภาพการผลิตกล้วยหอมทองของจังหวัดพัทลุง เพื่อการส่งออกกล้วยหอมทองของจังหวัดพัทลุง ไปสู่ตลาดประเทศญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืน