TSU

นิเทศศาสตร์ ม.ทักษิณ จัดเสวนา นักข่าวยุคดิจิทัล กับความท้าทายจริยธรรมวิชาชีพ เนื่องในวันนักข่าว เชิญคนข่าวเปิดมุมมองกับบทบาทคนทำข่าวในยุคดิจิทัล

   5 มี.ค. 67  /   53
นิเทศศาสตร์ ม.ทักษิณ จัดเสวนา นักข่าวยุคดิจิทัล กับความท้าทายจริยธรรมวิชาชีพ เนื่องในวันนักข่าว เชิญคนข่าวเปิดมุมมองกับบทบาทคนทำข่าวในยุคดิจิทัล
 

นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเสวนาวิชาการ "นักข่าวยุคดิจิทัล กับความท้าทายจริยธรรมวิชาชีพ" เนื่องในวันนักข่าว เชิญคนข่าวเปิดมุมมองกับบทบาทคนทำข่าวในยุคดิจิทัล  

 

 

วันนี้ (5 มีนาคม 2567) สถานีข่าวสองเล โดยหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับงานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ จัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการชวนกันคิด ชวนกันค้นหาแลกเปลี่ยนมุมมอง กับบทบาทคนทำข่าวในยุคดิจิทัล จากสองนักวิชาชีพและนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ในงานเสวนาทางวิชาการ "นักข่าวยุคดิจิทัล กับความท้าทายจริยธรรมวิชาชีพ" ณ ห้องประชุมสัมมนา 13315 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ทั้งนี้ได้เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook Live ทางเพจสถานีข่าวสองเล และ เพจ We TSU โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปาริฉัตร ตู้ดำ  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน 

 

สำหรับการเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้มีการบรรยายเสริมจากอาจารย์ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกษิณ 2 ท่าน คือ

ผศ.ดร.ธนภัทร  เต็มรัตนกุล หัวข้อ “AI กับความท้าทายจริยธรรมทางวิชาชีพ”

และอาจารย์ธีระ  ราชาพล หัวข้อ “AI กับการสื่อสารและภารกิจงานสื่อมวลชนในอนาคต”  

ส่วนการเสวนา ฯ ได้รับเกียรติจากวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่

คุณติชิลา พุทธะสาระพันธ์ หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

คุณมาศสุภา นาคสิงห์ นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทีปวิทย์ พงศ์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ดำเนินรายการโดย... อาจารย์จิณัชญ์ดา วิทยาพันธ์ประชา อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปาริฉัตร ตู้ดำ กล่าวว่า ท่ามกลางสภาวะข่าวสารล้นทะลัก ความต้องการเสพข่าวอย่างรวดเร็ว นักข่าวต่างต้องปรับตัวต่อแรงกดดันในการปฏิบัติงานข่าวสารพัดแบบ ล้วนเป็นความท้าทายของวิชาชีพนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยสถานีข่าวสองเล ในนามหลักสูตรนิเทศศาสตร์ และงาน สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดกิจกรรมวันนักข่าวขึ้นเป็นครั้งแรก ท่ามกลางสภาวะความ เปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารของยุคสมัยสื่อดิจิทัล หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่เฉพาะแต่เทคโนโลยี บทบาทของผู้สื่อข่าวหรือสื่อสารมวลชนต่างต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการบริโภคข่าวสาร ของผู้รับสารในปัจจุบัน และยังมีปรากฏการณ์ด้านการสื่อสารที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์ เรื่องสื่อพลเมือง การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ความคาดหวังของผู้คนในสังคมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่เข้มข้นและสอดคล้องกับจริยธรรมวิชาชีพ  การจัดเวทีเสวนาเรื่อง " นักข่าวยุคคิจิทัล กับความท้าทายจริยธรรมวิชาชีพ" ครั้งนี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่ แลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าติดตาม และหวังว่าจะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ในการสะท้อนทิศทางการปรับตัวของ ข่าวและผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานข่าว หรือแม้แต่ตัวผู้รับสารเอง เพราะทุกวันนี้เราไม่ได้เป็นเพียงผู้ฟังหรือผู้บริโภคข่าว แต่เราต่างอยู่ในกระบวนการผลิตเนื้อหาข่าวสารในสังคมร่วมกัน

   

สำหรับวันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 โดยเมื่อปี พ.ศ. 2498 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และนายโชติ มณีน้อย นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในขณะนั้นได้ก่อตั้งพร้อมลงนามร่วมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวม 16 ฉบับ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ร่วมวงการ เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความเจริญก้าวหน้าของอาชีพหนังสือพิมพ์ ได้ตกลงกันให้ถือเอาวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าวและหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับจะถือเอาวันนี้ เป็นประเพณีแห่งการหยุดงานประจำปี ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2510 เป็นต้นไป ส่วนรายชื่อ 16 หนังสือพิมพ์ที่ร่วมลงนามก่อตั้งวันนักข่าว ได้แก่  หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์, หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์, หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม, หนังสือพิมพ์ซินเสียง, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย, หนังสือพิมพ์หลักเมือง, หนังสือพิมพ์ศิรินคร, หนังสือพิมพ์สยามนิกร,  หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, หนังสือพิมพ์สากล, หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์, หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์