TSU

นักวิจัย ม.ทักษิณ ร่วมแสดงผลงานนิทรรศการ ช่างศิลป์ถิ่นไทยครั้งที่ 2 สืบสานไว้ให้ยั่งยืน เวทีนำเสนอผลงานฝีมือของช่างไทย

   18 มี.ค. 67  /   98
นักวิจัย ม.ทักษิณ ร่วมแสดงผลงานนิทรรศการ ช่างศิลป์ถิ่นไทยครั้งที่ 2 สืบสานไว้ให้ยั่งยืน เวทีนำเสนอผลงานฝีมือของช่างไทย
 

นักวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมแสดงผลงานนิทรรศการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทยครั้งที่ 2 สืบสานไว้ให้ยั่งยืน” เวทีนำเสนอผลงานฝีมือของช่างไทย มุ่งสืบสาน อนุรักษ์ ต่อยอดมรดกของไทยสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่

 

 

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร พร้อมด้วยกลุ่มร่องลายไทยจากจังหวัดสงขลา เข้าร่วมจัดแสดงผลงานนิทรรศการและถ่ายทอดงานศิลป์ช่างแทงหยวก ในงาน “ช่างศิลป์ถิ่นไทยครั้งที่ 2 สืบสานไว้ให้ยั่งยืน” โดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นในสังกัด "ธัชชา" กระทรวง อว. ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอผลผลิตจากงานวิจัยของสถาบันในปีงบประมาณ 2566 จากสถาบันอุดมศึกษา 12 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการของสถาบันได้นำข้อค้นพบและผลงานฝีมือของครูช่างและศิษย์มาจัดแสดง ให้เป็นแรงบันดาลใจต่อสาธารณชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของงานช่างศิลป์ท้องถิ่นไทย และเพื่อเปิดเวทีวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการสืบสานทุนทางวัฒนธรรมไทยและการต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานและจารแม่ลายกระหนกบนแผ่นทองแดง เพื่อเปิดนิทรรศการงานช่างศิลป์ถิ่นไทย ครั้งที่ 2 สืบสานไว้ให้ยั่งยืน  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-24 มีนาคม 2567  ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ภายในนิทรรศการ นอกเหนือจากการจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์แล้วได้มีการอบรมและสาธิตศิลปพื้นที่ 4 ภาค โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร และกลุ่มร่องลายไทยจากจังหวัดสงขลาได้สาธิต และอบรมการแทงหยวก ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2567

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร มหาวิทยาลัยทักษิณ  ในฐานะนักวิจัยที่นำเสนอผลงานนิทรรศการ และทำหน้าที่วิทยากรอบรมเรื่องการแทงหยวก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัย “รูปแบบแม่ลายในงานศิลปกรรมพื้นที่ภาคใต้” ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษารูปแบบแม่ลายที่ประดับตกแต่งงานช่างศิลปะสถาปัตยกรรมแบบประเพณีในท้องถิ่นภาคใต้ มีทั้งรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ มีวิธีการสร้างสรรค์แม่ลายและนำไปใช้ประดับตกแต่งในส่วนประกอบต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานเขียนสี งานปั้น งานหล่อ งานแกะสลัก งานฉลุ งานพิมพ์ และงานลงรักปิดทอง ประดับตกแต่งในองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมจากศาสนสถาน หรืออนุสรณ์สถาน ทั้งภายในและภายนอก ในพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด 54 แหล่งข้อมูล จำแนกรูปแบบลวดลายได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มรูปแบบจารีตที่สืบเนื่องของช่างหลวง
2. กลุ่มรูปแบบประยุกต์หรือผสมผสานรูปแบบศิลปะโบราณ - ศิลปะต่างชาติ
3. กลุ่มรูปแบบพื้นถิ่นที่เป็นการผสมผสานรูปแบบลัทธิทางความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมร่วมตลอดถึงธรรมชาติรอบตัว 

ทั้งนี้การศึกษาพบว่า สร้างสรรค์ผสานกับสภาพวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันเนื่องมาจากศาสนาที่อยู่ร่วมกัน และธรรมชาติรอบตัว จึงปรากฏรูปแบบแม่ลายภาคใต้ส่วนใหญ่อาศัยรูปแบบอย่างจารีตช่วงหลวงราชสำนักเป็นแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ผสานกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันเนื่องมาจากศาสนาที่อยู่ร่วมกันและธรรมชาติรอบตัว จึงปรากฎรูปแบบลวดลายใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการเมืองการปกครองของรัฐ จะเกิดลายรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิม ที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นถิ่นนั้น ๆ อันมาจากประสบการณ์ทักษะเชิงช่างที่แตกต่าง ความไม่เคร่งครัดในขนบ จารีต อย่างพื้นที่ที่อยู่ในศูนย์กลาง หรือใกล้ศูนย์กลาง แต่ลวดลายทุก ๆ รูปแบบที่ถูกรังสรรค์ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมอันแสดงถึงความศรัทธา ความเชื่อที่มีต่อพุทธศาสนา และรสนิยมในความงามของลวดลาย ในพื้นถิ่นนั้น ๆ นอกจากการจัดแสดงผลงานและการทำหน้าที่วิทยากรแล้วผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร ยังเป็นผู้ออกแบบชิ้นงาน “เบญจา” ภายใต้งานวิจัยเรื่องศึกษาแม่ลายในงานศิลปกรรม 4 ภูมิภาค โดย อาจารย์วิชัย รักชาติ และคณะผู้วิจัย วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ อีกด้วย

 

สำหรับนิทรรศการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทยครั้งที่ 2 สืบสานไว้ให้ยั่งยืน” จัดแสดงผลงาน  เป็น 4 กลุ่ม คือ
1. การจัดทำคลังความรู้ อนุรักษ์ สืบสาน ซึ่งมีวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบแม่ลายไทยใน 5 ภูมิภาค และการนำไปใช้สร้างสรรค์งาน ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้สำรวจสืบค้นช่างศิลป์ในจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงจัดอบรมช่างสาขาที่เสี่ยงต่อการอยู่รอด
2. การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้สกัดสีผงจากพืชพรรณ์ไม้ และวัตถุธาตุเพื่อใช้ในงานจิตรกรรม ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทดลองการป้องกันการเกิดของเชื้อราในวัสดุจักสาน
3. การปรับรูปแบบให้ใช้ในวิถีร่วมสมัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พัฒนาต้นแบบงานจักสานที่ชุมชนบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง และร่วมกับวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน พัฒนางานจักสานที่บ้านเลโคะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนวิทยาลัยชุมชนแพร่ ได้พัฒนาเครื่องแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองแพร่
4. การส่งต่อสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมือกับเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเชียงใหม่และช่างศิลป์ในพื้นที่ ฝึกสล่าน้อยในโรงเรียนต้นแบบ 4 โรง ให้จักสาน ทอผ้า สลักดุน ฝึกงานโลหะศิลป์ ส่วน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมช่างทอผ้ารุ่นใหม่ด้วยแนวคิดการออกแบบเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทย ครั้งที่ 2 สืบสานไว้ให้ยั่งยืน"ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 - 20.00 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)