TSU

คึกคัก! อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวหนังสือ ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน แบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ชีวิต รายได้มอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิต

   26 เม.ย. 67  /   51
คึกคัก! อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวหนังสือ ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน แบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ชีวิต รายได้มอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิต
 

คึกคัก! อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวหนังสือ “ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน" แบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ชีวิต รายได้มอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิต

 

 

วันที่ 25 เมษายน 2567 งานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ “ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ นักบริหาร นักคิด นักอ่าน และนักเขียน ในฐานะกวีหน้าใหม่

   

 หนังสือ “ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน" เป็นหนังสือกวีนิพนธ์กลอนเปล่าที่เปิดแง่มุม สะท้อนชีวิต ด้วยสำนวนง่าย ๆ  ที่กระชับ และเต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ความหวัง และพลังใจ การต่อสู้ดิ้นรนให้พ้นจากกับดักความยากจน

บรรยากาศภายในงาน เริ่มต้นด้วยการแสดงดนตรีกีต้าร์อคูสติก และขับร้องบทเพลง ท่ามกลางเหล่ากัลยาณมิตร นักคิด นักเขียน นักวิชาการ และผองเพื่อน ด้วยบรรยากาศชิว ๆ ริมฝั่งปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ณ หอศิลป์สงขลา ถนนนครนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ต่อด้วยการเสวนาโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์, อภิชาติ จันทร์แดง, สุวิชานนท์ รัตนภิมล, ดำเนินรายการโดยชนะ จันทร์ฉ่ำ

ในมุมมองของบรรณาธิการ นักเขียน อภิชาติ จันทร์แดง กวีชาวพัทลุงและอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สงขลา) ในฐานะบรรณาธิการ ผู้ตรวจแก้ไขงานเขียน กล่าวว่า กว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ได้สักเล่ม ผู้เขียนจะต้องกำหนดประเด็นให้ชัดว่าจะเล่า หรือจะสื่อถึงอะไร ซึ่งหนังสือ “ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน"  ผู้เขียนสื่อออกมาชัดเจนว่า ต้องการจะเล่าเรื่องของพ่อ  ในฐานะของบรรณาธิการ จำเป็นต้องคัด ตัดออก โยกย้ายและเพิ่มเติม เพื่อให้ชิ้นงานมีความสมบูรณ์ที่สุด กวีนิพนธ์เล่มนี้ มีการตรวจแก้ไข 5 รอบ  กว่าจะไล่เรียงว่าชิ้นไหนควรเริ่มต้นก่อน จะบอกเล่าเรื่องราวอะไร จุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายเป็นอย่างไร มีเนื้อหาที่แน่นมาก จึงใช้เวลาค่อนข้างนานกว่า 4 เดือน สำหรับการตรวจแก้ไข และปรับแต่งให้สมบูรณ์ ซึ่งถึงว่าหนังสือเล่มนี้เขียนออกมาได้ดี เล่าเรื่องของพ่อผู้เป็นเสมือนฮีโร่ โดยใช้บริบทของพื้นที่ควนกาหลงในการดำเนินเรื่อง เปิดตัวละครหลักคือ “พ่อ” ที่บุกเบิกถากถางทางโดยเนื้อหาสรุปของหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้มี 4 ช่วง ช่วงแรกเป็นเรื่องราวของผู้มาเยือน ช่วงที่ 2 เป็นเรื่องของการลงหลักปักฐาน ช่วงที่ 3 ผลผลิตซึ่งก็คือลูก ๆ ที่เติบโตบนเส้นทางชีวิตของแต่ละคน และช่วงที่ 4 เป็นเรื่องราวของบทสรุปเรื่องเล่าที่เป็นต้นกำเนิดเบื้องต้นของที่แห่งนี้ คือชีวิตในวัยเด็กของคุณพ่อ

 

 งานเขียนบทกวีนิพนธ์ในลักษณะที่ลื่นไหล ด้วยท่วงทำนองของลักษณะให้ตัวละครเป็นคนเล่าเรื่องจะดึงคนอ่านได้ง่ายกว่า เพราะถ้าผู้อ่านไม่สามารถเคลื่อนไปกับเรื่องเล่าได้แสดงว่ายังไม่ถึงจุดหมายปลายทางของผู้เขียน เพราะฉะนั้นการเขียนหนังสือให้ได้ดีต้องมีการเคลื่อนของเรื่องราว ซึ่งหนังสือเรื่องนี้ทำได้ดี เพราะคนที่เขียนเล่าเรื่องเป็นตัวรอง เป็นตัวละครที่เฝ้าดู สังเกตการณ์ ซึ่งตัวละครล้วนมีปฏิสัมพันธ์กัน  ผลงานชิ้นนี้มีการขัดเกลางานหลายรอบมากทั้งเนื้อหา บทสรุปจบ และชื่อเรื่อง โดยเฉพาะชื่อเรื่องมีผลต่อผู้อ่านโดยตรง

 

ในมุมมองของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล นักเขียนที่มาบอกเล่าในฐานะผู้อ่าน“ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน" หนังสือกวีนิพนธ์เรื่องนี้มีสิ่งที่สัมผัสได้ถึงความเจริญงอกงาม เรื่องราวเล่าย้อนไปสู่วัยเยาว์ของผู้เขียนหรือวัยเด็กของคนในภาคใต้ ความงอกงามของวัยเด็ก สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวของการพูดแทน “พ่อ” บทกวีแต่ละเรื่องราว แต่ละท่อนแต่ละตอนสะท้อนมุมมอง แง่คิด ชักชวนให้ค้นหา เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นถึงความเงียบเหงาก้นบึ้งของความรู้สึก ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดผ่านบทกวี การต่อสู้ ดิ้นรนให้หลุดพ้นจากพันธนาการของความยากจน ความไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนผ่านบทกวีที่ถ่ายทอดออกแบบอย่างเรียบง่าย ผู้เขียนใช้ภาษาเรียงร้อยเรื่องราวเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในลักษณะที่ว่า “ให้บทกวีพูดแทนหัวใจของผู้ประพันธ์” นั่นหมายความว่า บทกวีเพียงหนึ่งบทที่ทะลุเข้าสู่หัวใจของผู้อ่านถือว่าบทประพันธ์นั้นประสบความสำเร็จ

หนังสือเล่มนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนหน้าใหม่ ผู้คนในแวดวงสังคมผู้บริหาร อาจจะกล่าวได้ว่าผู้บริหารน้อยคนนักที่จะเป็นนักเขียน ในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่เหนือสุดจรดใต้สุดท่านลองหาดูว่า มีใครบ้างที่เป็นผู้บริหารระดับอธิการบดีที่เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และกวี...?

  

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราสัมผัสได้ถึงชีวิต ประสบการณ์ของคนแกร่งสู้ชีวิต ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค์และความยากจน ผ่านมุมมองตัวเอกของเรื่อง บางคนอาจจะคิดว่า “เขียนหนังสือแค่นี้ใคร ๆ  ก็เขียนได้” แน่นอนใคร ๆ ก็เขียนได้ แต่การจะเขียนให้ทะลุสู่หัวใจได้นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ร่วมของผู้อ่านเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในตอนที่กล่าวว่า...

“เขาควน-ควนกาหลงส่งเสียงทายทัก

จากอีกฟากฝั่งอันดามัน-ตะวันตก

เสียงกระซิบเพรียกหาจากแผ่นดินไม่คุ้นเคย

เส้นทางลำเลียงขบวนคนทุกข์

เรียงรายข้ามผ่านทางรถไฟไม่ลังเล

ทิวเทือกภูบรรทัดตระหง่านปะทะราวสายตา

ทอดยาวเหนือใต้ตามแนวคาบสมุทร...

 

คุณค่าของบทกวีทุกประโยคที่เข้ามาสู่หัวใจ เพาะบ่ม และกระแทกออกมาภายนอกให้ความรู้สึกถึงความมุ่งมั่น คุณค่าของบทกวี นักเขียนหรือผู้ประพันธ์เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่... ข้อดีของกวีนิพนธ์เล่มนี้ เห็นถึงความง่าย คือการหยิบเอาเรื่องใกล้ตัวมาเล่า ทุก ๆ ครอบครัวล้วนมีเรื่องเล่า ในหลาย ๆ บท สะท้อนการผูกโยงความเป็นไปในสังคม แต่ละจิ๊กซอว์ถูกต่อเรียงกันจนเป็นเรื่องราวของคน ๆ หนึ่ง เรื่องราวของ “พ่อ” ที่เป็นสามัญชนที่ดิ้นรนในความยากลำบาก เรื่องเล่าให้คนในครอบครัวรับรู้และรู้จุดหมายปลายทางว่าจะเดินไปในทิศทางใด ชอบงานเขียนชิ้นนี้ เป็นสมดุลระหว่างนามธรรมและรูปธรรม เล่าสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วฉับพลัน ระดับโลกหยุดหมุน สู่การเริ่มต้นใหม่ อาศัยความหวังที่ไม่เคยสูญสลายหล่อเลี้ยงให้เกิดชีวิตใหม่
 

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ นักบริหาร นักคิด นักอ่าน และนักเขียน ในฐานะกวีหน้าใหม่ ให้ข้อมูลว่าที่ข้าพเจ้าเขียนหนังสือ “ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน" เพื่อสะท้อนเรื่องราวที่มาจากเรื่องที่พ่อเล่าให้ฟัง ทั้งการเล่าด้วยวาจา การกระทำ และสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง ตอนที่ข้าพเจ้าและพี่น้องไปเรียนหนังสือ ณ แดนไกล พ่อเขียนจดหมายถึงลูก ๆ ทุกคน จำนวนกว่า 60 ฉบับ มีอยู่เพียงฉบับเดียวที่เขียนถึงข้าพเจ้า จดหมายที่พ่อเขียนได้ถูกรวบรวมเป็นหนังสือ “จดหมายลายมือพ่อ” ซึ่งทำแจกจ่ายในงานศพพ่อของข้าพเจ้า และเป็นเล่มแรกก่อนจะมาเขียนบทกวี “ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน" เล่มนี้ใช้เวลาในการเขียนไม่นาน แต่ใช้เวลาในการตรวจแก้ไขงานนานมาก เนื้อหาเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเล่าจากประสบการณ์ที่พบเห็นผู้เป็นพ่อในการใช้ชีวิต การต้องอยู่อาศัยในนิคมจัดสรร การที่พ่อต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นยาม การที่แม่จะต้องลุกขึ้นไปกรีดยางตอนตี 2 และจัดเวรให้ลูก ๆ ทุกคนไปเป็นเพื่อนแม่ รวมถึงความใฝ่ฝันของพ่อที่ต้องการเห็นลูก ๆ ทุกคนเติบโตและเจริญในหน้าที่การงาน เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความยากจน สำหรับหนังสือเล่มนี้ ได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ๆ บรรณาธิการ นักเขียน นักอ่าน แนะนำแนวทางเขียน และการใช้ภาษาให้สละสลวย อ่านง่ายขึ้น เป็นเรื่องราวที่มีพ่อเป็นตัวเอกของการเดินเรื่อง ถ่ายทอดออกมาจากความทรงจำและข้อมูลที่มีอยู่ พ่อเป็นผู้ที่เสียสละ อดทน ทุ่มเท และอยู่ในสังคมของการเกื้อกูล เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก ๆ เป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตของคนธรรมดาที่ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

หนังสือ “ผู้กลายเป็นเรื่องเล่าของหมู่บ้าน"  ราคาเล่มละ 180 บาท

**รายได้จากการจำหน่ายโดยไม่หักค่าใช้จ่ายมอบเป็นทุนการศึกษานิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ

ผู้สนใจติดต่อสั่งซื้อหนังสือได้ที่ facebook  Nathapong Chitniratna