TSU

ระบือศิลป์ ระบิลศาสตร์ ธำรงปราชญ์ภาษาไทย วิชาเอกภาษาไทย ม.ทักษิณ สืบสาน ต่อยอดศิลป์และศาสตร์ภาษาไทย

   29 ส.ค. 67  /   41
ระบือศิลป์ ระบิลศาสตร์ ธำรงปราชญ์ภาษาไทย วิชาเอกภาษาไทย ม.ทักษิณ สืบสาน ต่อยอดศิลป์และศาสตร์ภาษาไทย

 

 “ระบือศิลป์ ระบิลศาสตร์ ธำรงปราชญ์ภาษาไทย”  วิชาเอกภาษาไทย ม.ทักษิณ  สืบสาน ต่อยอดศิลป์และศาสตร์ภาษาไทย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดโครงการ “ระบือศิลป์ ระบิลศาสตร์ ธำรงปราชญ์ภาษาไทย”  เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้  มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา โดยสาขาวิชาภาษาไทย ได้จัดพิธีไหว้ครูภาษาไทย  ก่อนเข้าสู่ช่วงพิธีเปิดงาน เพื่อแสดงออกถึงความเคารพ กตัญญุตาแก่คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชา

อาจารย์วราเมษ  วัฒนไชย อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ในฐานะประธานกรรมการดำเนินโครงการ ฯ กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยทักษิณได้เปิดสอนวิชาเอกภาษาไทยในหลายหลักสูตรจึงมีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมให้นิสิตได้มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะในด้านภาษาและวรรณคดีไทย เพื่อให้ศิลป์และศาสตร์ของภาษาและวรรณคดีไทยได้ระบือระบิล  และเพื่อให้นิสิตวิชาเอกภาษาไทยของมหาวิทยาลัยทักษิณได้สำเร็จเป็นนักปราชญ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันต่อไปในกาลข้างหน้า กอร์ปกับภาษาและวรรณคดีไทยเป็นวัฒนธรรมสำคัญประการหนึ่งที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของชาติไทยที่ไม่ด้อยกว่าชาติใด ๆ ในโลก    เนื่องด้วยภาษาและวรรณคดีของไทยนั้นมีทั้งความเป็นศิลปะอันงดงาม และมีความเป็นศาสตร์อันลุ่มลึก แสดงให้เห็นถึงความเป็นปราชญ์ของคนไทยมาแต่ปางบรรพ์ ด้วยเหตุดังกล่าว หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย  จึงได้ร่วมกันจัดโครงการ“ระบือศิลป์ ระบิลศาสตร์ ธำรงปราชญ์ภาษาไทย” ขึ้นเป็นประจำทุกปี 

  

โดยมีรูปแบบของกิจกรรมในโครงการที่หลากหลาย  ได้แก่ การตอบปัญหาทางภาษาและวรรณคดีไทย การแข่งขันกลอนสด การประกวดร้องเพลง การประกวดตัวละครจากวรรณคดี การโต้วาที การแสดงนิทรรศการ และการออกร้าน   กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในโครงการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยแสดงสมรรถนะของนิสิตทั้งในด้านทักษะทางภาษาวรรณคดีไทย   และทักษะชีวิตให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น   ทักษะทางภาษาและวรรณคดีไทยเห็นได้จากนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาบูรณาการใช้กับกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ส่วนทักษะชีวิตของนิสิตอาจเห็นได้จากการทำงานร่วมกับผู้อื่น การยอมรับกฏเกณฑ์กติกาในการแข่งขัน และการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 

  

นอกจากนี้  กิจกรรมต่างๆ ในโครงการนี้ยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และปลูกฝังความรักในภาษาและวรรณคดีไทยให้แก่นิสิต เพื่อกระตุ้นเตือนให้นิสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาและวรรณคดีไทย อันจะนำไปสู่จิตสำนึกในการอนุรักษ์ สร้างสรรค์และสืบทอดภาษาและวรรณคดีไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 400 คน เป็นคณาจารย์และนิสิตจากวิชาเอกภาษาไทยของทั้งสองหลักสูตร บุคลากรสายสนับสนุน และผู้สนใจจากภายนอก  โดยเฉพาะในปีนี้มีอาจารย์และนักศึกษาจากสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และครูพร้อมด้วยนักเรียนจากโรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา ได้ขออนุญาตเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมภายในโครงการอีกด้วย