TSU

หรอยแต่แรก Day 3 หรอยฉ่ำ ยกกำลังสิบ นิสิตตบเท้าเข้าแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ทำอาหารประชันฝีมือ....หนุก หรอย จอย ม่วน มันส์ หฤหรรษ์แบบไร้ขีด

   18 ธ.ค. 67  /   22
หรอยแต่แรก Day 3 หรอยฉ่ำ ยกกำลังสิบ นิสิตตบเท้าเข้าแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ทำอาหารประชันฝีมือ....หนุก หรอย จอย ม่วน มันส์ หฤหรรษ์แบบไร้ขีด
 

“หรอยแต่แรก”..... หรอยจริง หรอยจ้าน หรอยจังฮู้

ปิดจ๊อบกันแบบสมมงของนิยาม “ความหรอย” สำหรับโครงการ "หรอยแต่แรก สานใจใต้ สายใยวัฒนธรรม" ที่องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา กับฝ่ายกิจการนิสิตได้ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567เป็นกิจกรรมวันสุดท้าย ซึ่งมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านทางน้ำ การแข่งขันขูดมะพร้าว การแข่งขันทำอาหารพื้นบ้าน และการนำเสนอ Soft Power จากซุ้มของกลุ่มจังหวัดต่างๆ  ปิดท้ายโครงการฯ ด้วยคอนเสิร์ตโจ๊ะๆ และรำวงเวียนครกในแบบฉบับปักษ์ใต้บ้านเรา ทำเอาเหล่านิสิต บุคลากร ไปจนถึงอาจารย์พากันม่วน จอยกันสุดขีด แบบไร้สิ่งกีดขวาง เรียกว่า “ได้หรอย” กันถ้วนหน้า ทั้งผู้จัด ผู้เข้าแข่งขัน และคนร่วมงาน

 

    

หลังจากสนุกสนานกันกลางสนามดินกับการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านทางบกกันไปแล้วในวันที่สองของการจัดโครงการฯ ก็ถึงคิวสนุกฉ่ำกับแข่งขันกีฬาพื้นบ้านทางน้ำในวันที่สาม ซึ่งทางผู้จัดได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยไม่แพ้ความสนุกสนาน ก่อนการแข่งขันจึงจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางน้ำ โดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

    

จากนั้นก็ระเบิดความหรอยแบบน้ำกระจายด้วยการแข่งขัน “พายเรือหัวใบ้ท้ายบอด” โดยปิดตาฝีพายท้ายเรือ ส่วนคนหัวเรือปิดปาก พูดไม่ได้แต่ให้สื่อสารกับคนพายด้วยการสัมผัสเพื่อบอกเส้นทางการพายไปสู่เส้นชัย ต่อด้วยการแข่งขัน “พายโคม” ซึ่งนำกะละมัง หรือ “โคม” ในภาษาถิ่นใต้มาใส่ในห่วงยาง จากนั้นนิสิตผู้เข้าแข่งขันก็ลงนั่งในกะละมังแล้วใช้มือตะกายพายน้ำในการเคลื่อนตัว ซึ่งทะลักทุเลกันทั้งสองชนิดกีฬา เรียกเสียงฮา น้ำตาเล็ดทั้งจากคนแข่งที่อยู่ในน้ำและกองเชียร์รอบริมบึง

   

ย้ายความหนุก หรอยจากบึงมายังลานแอโรบิค กับการแข่งขัน “มวยทะเล” ที่ผลัดกันต่อย แล้วปล่อยรอยยิ้มแลกกัน แถมยังสลับกันหล่นน้ำคนละยกสองยกพอให้ได้ฉ่ำ ได้หัวเราะกัน กระจายความครื้นเครงไปทั่วลานแอโรบิคกันเลยทีเดียว

   

หัวเราะต่อเนื่องกับการแข่งขัน “ขูดมะพร้าว” ด้วยกระต่ายของนิสิตชายที่โชว์ลีลาขูดดุดันไม่ปันใคร ทั้งพลิ้ว ทั้งเชี่ยวชาญ ดูชำนาญเกินกว่าจะเป็นครั้งแรกสำหรับหลายคน สอบถามได้ความว่ามีโอกาสสั่งสมประสบการณ์จากการช่วยคุณแม่ขูดมะพร้าวอยู่บ่อยครั้งนั่นเอง ในส่วนของผลการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านทั้งทางบกและทางน้ำ ทีมจังหวัดนราธิวาสคว้าแชมป์ไปครอง, ลำดับที่ 2 เป็นของจังหวัดสงขลาทีม 2 และจังหวัดกระบี่ ส่วนปัตตานีคว้าที่ 3 ไปครอง

   

   

การประชันฝีมือ “ทำอาหารพื้นบ้าน” เป็นการแข่งขันรายการสุดท้ายที่ได้เนรมิต Kitchen stadium ด้วยแคร่ไม้ไผ่ มีวัตถุดิบหลักเป็นปลากะพง วัตถุดิบเสริมเป็นไข่ไก่และปลาทู พร้อมด้วยผักนานาชนิด ทั้งสำหรับใช้แกง และเป็นผักเคียง มี “แกงส้ม” เป็นเมนูบังคับ ซึ่งทุกกลุ่มจะต้องตำเครื่องแกงเองและหุงข้าวเอง ความท้าท้ายที่ไม่แพ้การทำอาหาร คือการก่อไฟด้วยเตาถ่าน งานนี้ทำเอาบางกลุ่มงัดทุกอุปกรณ์ที่พอหาได้ในบริเวณนั้นมาเป็นตัวช่วยในการพัดไฟให้กระพือ บางกลุ่มก็ออกลีลาท่าพัดให้ได้เรียกเสียงฮาจากคณะกรรมการและคนดู นับเป็นความหนุก หรอย จอย ม่วน ที่เอ่อล้นออกจากหม้อรามชามไห เป็น 2 ชั่วโมงการแข่งขันประชันฝีมือที่หฤหรรษ์และสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจริงๆ และกลุ่มนิสิตที่มีรสมือชนะใจคณะกรรมการ คว้าแชมป์การทำอาหารพื้นบ้านไปครองคือ กลุ่มจังหวัดระนอง ชุมพรและภูมิภาค ส่วนทีมจังหวัดสงขลา กับจังหวัดตรังก็รั้งตำแหน่งที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

      

     

นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันความเป็น Soft Power จากซุ้มตัวแทนจังหวัด ที่ต่างงัดเอาของเด็ด ของดังประจำจังหวัดมาจัดแสดงเพื่อประกาศความเป็นอัตลักษณ์ผ่านของดีพื้นถิ่น ของกินพื้นบ้าน งานนี้จังหวัดพัทลุงคว้าชัย ลำดับที่ 2 เป็นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดกระบี่รั้งที่ 3 ตามมาติดๆ

    

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ากิจกรรมต่างๆ ในโครงการ "หรอยแต่แรก สานใจใต้ สายใยวัฒนธรรม" ได้สร้างการมีส่วนร่วมของนิสิตได้อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างนิสิตกับบุคลากรมหาวิทยาลัยในหลากหลายความเกื้อกูล และที่สำคัญ คือ การเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับราก..... “จากรากสู่โลก จากโลกมาสู่เรา” ตามวิสัยทัศน์ของการเป็น “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม”