TSU

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน นั่งแท่นคณบดี TSU-MDC โชว์นโยบาย Education Move Us Closer

   19 มี.ค. 67  /   78
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน นั่งแท่นคณบดี TSU-MDC โชว์นโยบาย Education Move Us Closer
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน  นั่งแท่นคณบดี  TSU-MDC  โชว์นโยบาย “Education Move Us Closer” การศึกษาเคลื่อนเรามาใกล้กัน ดึงศักยภาพเด่น ด้านนวัตกรรมสังคมและการประกอบการ  ตอบโจทย์พัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนประเทศ 

   

 

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 มีมติแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน ดำรงตำแหน่ง คณบดีวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา  ทีมข่าว TSU NEWS ได้สัมภาษณ์ถึงนโยบายและแนวทางการบริหารวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา (TSU-MDC) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง กล่าวว่า สำหรับนโยบายและแนวทางการบริหารวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนาได้วางนโยบายที่สำคัญคือ การนำพาวิทยาลัยฯ ก้าวสู่การเป็นวิทยาลัยเด่นแห่งนวัตกรรมสังคมและการประกอบการ ด้วยคติพจน์ที่ว่า “Education Move Us Closer” การศึกษาเคลื่อนเรามาใกล้กัน โดยผ่านตัวแบบ KIBA ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทางขับเคลื่อน ได้แก่
     1) การขับเคลื่อนด้วยความรู้ Knowledge-Driven มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางการบริหารและการพัฒนาระบบ
     2) การขับเคลื่อนด้วยผลกระทบ Impact-Driven มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ
     3) การขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์น่านน้ำสีน้ำเงิน Blue Ocean Strategy-Driven มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางบริการวิชาการ
     4) การขับเคลื่อนด้วยความสำเร็จ Achieving-Driven มุ่งสร้างความเข็มแข็งทางเครือข่ายวิชาการสงขลา-พัทลุง

 

ทั้งนี้แนวทางมุ่งเป้าตาม Roadmap 4 ปี มีดังนี้ ปี 2567 เน้นเรื่องโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบนิเวศ การพลิกมุมมองใหม่   ปี 2568 เน้นเรื่องวัฒนธรรมนวัตกรรมสังคมและการประกอบการ ปี 2569 เน้นเรื่องพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยพัฒนาสู่มาตรฐานระดับนานาชาติบนฐานท้องถิ่น ปี 2570 เน้นเรื่องวิทยาลัยโฉมใหม่จากปัจจุบันสู่อนาคต ก้าวสู่ปี 2571 ด้วยความมั่นคงทางทรัพยากรมนุษย์และการเงิน วิทยาลัยเด่นแห่งนวัตกรรมสังคมและ การประกอบการ และการจัดอันดับผลกระทบตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก Time Higher Education (THE)

 

ในส่วนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองนโยบายและรองรับหลักสูตรใหม่ ๆ และหลักสูตร Premium ในอนาคต จะเป็นอย่างไร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง เผยว่าวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา  มุ่งใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Leaning) ด้วยการนำพาแนวคิดการจัดการศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อทุกคน (TSU for All) โดยจะเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งอาศัยการจัดการศึกษาในลักษณะหลักสูตรการศึกษาในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตร คือ
     1. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
     2. หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่ วิชาเอกการจัดการการประกอบการทางสังคมและวิชาเอกการจัดการการท่องเที่ยวและไมซ์

ทั้งสองหลักสูตรมีนิสิตในระบบการศึกษาถึง 1,649 คน หลักสูตรการศึกษานอกระบบที่ใช้รายวิชาเชิงทักษะปฏิบัติหรือวิชาชีพและชุดวิชามาร่วมจัดการเรียนการสอนแบบเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและสะสมในระบบคลังหน่วยกิตเพื่อขอสำเร็จการศึกษาได้ รวมถึงหลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดบริการแก่ผู้ที่สนใจให้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะ สมรรถนะ ความรู้ทางวิชาการหรือวิชาชีพได้กว้างขึ้น โดยมีการรับรองสมรรถนะหรือประเมินผลลัพธ์ การเรียนรู้ ตามเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัย เพื่อการเก็บสะสมในระบบคลังหน่วยกิต และหลักสูตรระยะสั้นซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงเป็นเรื่อง ๆ โดยใช้ระยะเวลาไม่ยาวมากนัก เป็นหลักสูตรที่จัดบริการแก่ผู้ที่สนใจให้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะสมรรถนะ ความรู้ทางวิชาการ หรือวิชาชีพได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยหลักสูตรทุกรูปแบบจะจัดผ่านแพลตฟอร์ม TSU for All ของมหาวิทยาลัยทักษิณ

ทั้งนี้ในปี 2568 วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา (TSU-MDC) จะเปิดวิชาเอกใหม่ภายใต้หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่ คือ วิชาเอกการจัดการโลจิสติกส์ และตามมาด้วยหลักสูตรกระแสใหม่ที่จะเปิดการเรียนการสอนในวิทยาเขตพัทลุง คือ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครองดิจิทัล (Digital Politics and Governance) ภายใต้ความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรและนิสิต ที่หน่วยงานจัดเตรียม เพื่อเป้าหมายการผลิตบัณฑิตของวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง กล่าวว่าวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนาได้สร้างปัจจัยสนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรและนิสิต ดังนี้
     ปัจจัยแรก คือ การสนับสนุนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนาภาษาอังกฤษมากยิ่ง ด้วย 3 แนวทางคือ จัดทำระบบห้องเรียนสองภาษา โดยจะเริ่มนำร่องกับหลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่ วิชาเอกการการท่องเที่ยวและไมซ์
จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและอาชีพให้บุคลากรและนิสิตของวิทยาลัยฯ ทุกคนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในระบบ และจัดทำโครงการภาคสนามจากความรู้สู่พื้นที่ปฏิบัติการทางสังคมในต่างประเทศ โดยสนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงและการใช้ภาษาอังกฤษในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาทั้งบุคลากรและนิสิตไปพร้อมกัน
     ปัจจัยที่สอง คือ การสนับสนุนและเพิ่มโอกาสการเข้าสู่อาชีพทางราชการ ด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่อาชีพทางราชการทุกประเภทให้กับนิสิตทุกคนที่สนใจ
     ปัจจัยที่สาม คือ การสนับสนุนและเพิ่มสมรรถนะทางดิจิทัล (Digital Literacy) ด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับนิสิตทุกคนที่สนใจ ปัจจัยที่สี่ คือ การพัฒนาพื้นที่สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างผู้ประกอบการ โดยวิทยาลัยฯ จะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ TSU-MDC Co-working and Learning Space ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567 และจะเปิดให้บุคลากรและนิสิตได้ใช้เป็นพื้นที่พัฒนาตนเองเพื่อการเรียนรู้และสร้างธุรกิจได้ ต้อนรับปีการศึกษา 2567 นี้
     ปัจจัยสุดท้าย คือ การสร้างความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพกับองค์การภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยปัจจุบันวิทยาลัยฯ ได้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานในประเทศเพิ่มเติม อาทิ การเข้าเป็นสมาชิกถาวรของสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย การเป็นศูนย์มัคคุเทศก์ ภายใต้การรับรองจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานในต่างประเทศ อาทิ Langkawi Tourism Academy of Langkawi Community College, Myanmar Creative University, ASEAN University Collaboration for the International Conference on Multidisciplinary Research (iCMR) เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรและนิสิตของวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา

  

และนี่คือบทสัมภาษณ์ทิศทางการบริหารและการมุ่งดำเนินงานประสานเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตและสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษา จากคณบดี วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน

ติดตามข้อมูลของวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา ได้ทางเว็บไซต์ https://umdc.tsu.ac.th/ 
หรือทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ 
สอบถามข้อมูลได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 074-317689 มือถือ 09 9360 2374