TSU

มหาวิทยาลัยทักษิณ - ปอด - ของคนเมืองสงขลา

   25 ต.ค. 66  /   233
 

เมื่อกล่าวถึง “มหาวิทยาลัยในสวน” (The University in the park) ภาพพื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้น้อยใหญ่เรียงรายสลับสวนหย่อมไว้พักผ่อนหย่อนใจ ฟังธารน้ำไหลเซาะร่องหิน เสียงนกและแมลงไพรระงม บรรยากาศร่มรื่นก็เด่นขึ้นมา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา บนเนื้อที่เชิงเขารูปช้าง 142 ไร่ เองก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งศึกษาเรียนรู้ใจกลางเมืองที่อยู่ในภาพนั้น และเป็น “ปอด” ของผู้คนเมืองสงขลามายาวนาน

 



   

อาจารย์วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสงขลา กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดไว้ว่าในแต่ละเมืองต้องมีพื้นที่สีเขียวต่อคนไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตร ทำให้สังเกตเห็นว่า การสร้างพื้นที่สีเขียวสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ที่พักอาศัย หรือในหลากหลายองค์กร ก็มีการจัดสรรพื้นที่ใช้ประโยชน์ ทั้งอาคารเรียน คณะ ส่วนงาน หอพัก ลานกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณของเราก็ยังใช้พื้นที่อันมีอยู่จำกัดสร้างสวนไว้ในจุดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งพื้นที่สวนป่าและพื้นที่สวน

มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน ดูดซับมลภาวะ ฝุ่น ควัน และเสียงให้กับเมืองสงขลาที่กำลังขยายการเจริญเติบโต เป็นพื้นที่สร้างความอภิรมย์ มองแล้วรู้สึกสบายตา สบายใจ ซึ่งมีความสำคัญมากกับทั้งสุขภาวะทางกายและสุขภาวะทางจิตของคนในชุมชน มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวเกือบทุกรูปแบบส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ลดความเครียดและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

“จุดเด่นของสวนในมหาวิทยาลัยทักษิณอยู่ที่การออกแบบ แนวคิดของเราคือการสร้างบรรยากาศให้กลมกลืนระหว่างต้นไม้กับอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย มีการปล่อยให้ต้นไม้ ต้นหญ้า เติบโตตามแบบธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “มหาวิทยาลัยในสวน” พื้นที่ของสวน รายล้อมไปด้วยความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ โดยมีผืนน้ำใสจากธารน้ำตกเล็ก ๆ ไหลลดหลั่นลงมาตามชั้นโขดหิน” อาจารย์วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์ กล่าว

นอกจากมหาวิทยาลัยทักษิณจะมีพื้นที่สวนที่รายล้อมไปด้วยความร่มรื่นจากต้นไม้แล้ว มหาวิทยาลัยของเราก็ยังมีลานกว้างกลางแจ้ง สนามหญ้า ตกแต่งด้วยพุ่มไม้หลากสี อีกฝั่งเป็นพื้นที่เป็นลานกิจกรรมใต้เงาไม้ สามารถใช้เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อน นั่งเล่น พูดคุย เป็นพื้นที่รองรับการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย

                                              อาจารย์วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสงขลา

อาจารย์วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์ กล่าวอีกว่าจุดเด่นของที่นี่ที่พลาดไม่ได้ และใครมาก็ต้องเช็คอินก็คือ สะพานข้ามฝั่งที่ตั้งอยู่ใจกลางสวนพาดผ่านธารน้ำเล็ก ๆ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเซลฟี่มุมไหนภาพก็ออกมาสวย และดูดีไปพร้อม ๆ กับสวนต้นไม้โดยรอบ และอีกจุดมีต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งสูงเด่น แผ่กิ่งก้านปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของสวน คือ ต้นเลียบหรือปู่เลียบของชาวมหาวิทยาลัยทักษิณของเรา ซึ่งถือเป็นต้นไม้ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ผู้คนได้กราบไหว้ขอพร บนบาน และเป็นที่พึ่งทางใจของใครหลาย ๆ คนในมหาวิทยาลัย นับได้ว่าสวนแห่งนี้ได้ทั้งความสบายกายจากร่มไม้และความสบายใจจากการปกปักรักษาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยอีกทาง

“บทบาทการขับเคลื่อนในการพัฒนาเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เป็นอีกภารกิจที่มุ่งเป้าสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยในสวน” เปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ อย่างเช่น ในห้องเรียน ห้องน้ำ หรือห้องต่างๆ รวมไปถึงบนโต๊ะทำงานให้มีพื้นที่สีเขียวไว้หย่อนใจ โดยวางต้นไม้ไว้บริเวณเหล่านี้ เพื่อเป็นจุดพักสายตายามเหนื่อยล้า และเพิ่มการปรับเปลี่ยนดัดแปลงรูปแบบการปลูกสวนแนวตั้งข้างผนังอาคาร ซึ่งจะสามารถลดอุณหภูมิพื้นผิวและลดความร้อนของอาคารและขยายคลอบคลุมไปสู่การเพิ่มพื้นที่ความร่มรื่นโดยปลูกสวนตามแนวเส้นทางสัญจรในมหาวิทยาลัย” อาจารย์วีณา กล่าว อย่างไรก็ตาม

     

     

    

นอกเหนือไปจากเป็น “มหาวิทยาลัยในสวน” ที่บรรยากาศร่มรื่น มองแล้วรู้สึกสบายตา สบายใจแล้ว การที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้กลายเป็น “ปอด” ของเมืองสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันนั่นก็เป็นคำตอบของการเป็น “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม” ของมหาวิทยาลัยทักษิณอย่างภาคภูมิ