TSU

ม.ทักษิณ สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นำขยะเหลือทิ้งสู่พลังงานเชื้อเพลิงทดแทน RDF ตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

   1 ก.พ. 67  /   272
ม.ทักษิณ สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นำขยะเหลือทิ้งสู่พลังงานเชื้อเพลิงทดแทน RDF ตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
 

ม.ทักษิณ สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นำขยะเหลือทิ้งสู่พลังงานเชื้อเพลิงทดแทน RDF (Circular Economy) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นมหาวิทยาลัยแรกของภาคใต้ที่มีการจัดการขยะ RDF อย่างถูกต้อง โดยตั้งเป้าหมาย Zero waste ใน 5 ปีข้างหน้านี้

 

     ปัจจุบันขยะเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลกที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจึงเป็นสาเหตุให้มีจำนวนขยะเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมีทั้งขยะจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ครัวเรือน และสารเคมีอันตรายเป็นเหตุให้เกิดขยะเศษสิ่งของเหลือใช้มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

      
     

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยทักษิณโดยการนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ จิตรนิรัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีนโยบายในการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นชุมชนวิชาการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยทักษิณได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะจึงได้มีแนวคิดในการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรและการลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย (Waste Minimization in the university) เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ส่งผลให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ภายใต้ “โครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรสู่ความยั่งยืน” ที่จะช่วยลดปริมาณขยะ ตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นมหาวิทยาลัยแรกของภาคใต้ที่มีการจัดการขยะ RDF อย่างถูกต้อง โดยตั้งเป้าหมาย Zero waste ใน 5 ปีข้างหน้านี้

     

     ในส่วนของการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้มีการจัดทำกิจกรรม ที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) คือ ขยะที่เผาไหม้ได้มีค่าความร้อนสูง โดยการนำขยะมาผ่านกระบวนการคัดแยก การลดขนาด และการลดความชื้น เพื่อผลิต เป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนได้ ซึ่งเชื้อเพลิงจากขยะ RDF ยังเผาในระบบปิด ไม่ปลดปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับบริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด เพื่อนำขยะ RDF เหล่านี้ไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนต่อไป นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยทักษิณยังมีการจัดการขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ โดยการนำเศษใบไม้ เศษหญ้า และเศษอาหาร ไปทำปุ๋ยหมัก และการกำจัดขยะอันตราย โดยรวบรวมส่งไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงเพื่อจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดจนมหาวิทยาลัยทักษิณยังได้ผลักดันกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ แบบครบวงจรให้กับแม่บ้านและพนักงานเก็บขยะ บุคลากร และนิสิต การรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมการลดปริมาณขยะ โดยนำขยะ RDF และขยะรีไซเคิลมาแลกวัสดุทำกระทง กิจกรรมการสร้างแรงจูงใจในการลดขยะผ่านกิจกรรมนำแก้วมาเอง ลดราคา ลดการใช้พลาสติก ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกที่ดำเนินโครงการ (ต.ค.66-ม.ค.67) ปริมาณขยะทั่วไปที่ส่งกำจัด มีปริมาณรวมทั้งหมด 91.95 ตัน ซึ่งสัดส่วนขยะที่คัดแยกออกมาเป็นขยะรีไซเคิลรวมกับขยะที่ส่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน RDF ได้ถึง 16.93 ตัน คิดเป็นร้อยละ 18 จากปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย และพบว่า ปริมาณขยะทั่วไปลดลงจากปี พ.ศ.2565 ถึงร้อยละ 8.2 เทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน     

         

     ผลจากการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นการลดของปริมาณขยะของมหาวิทยาลัยได้อย่างชัดเจน และมหาวิทยาลัยยังมีแผนงานต่อเนื่องในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะโดยการขยายผลไปสู่โรงเรียนและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสูงสุด ช่วยลดขยะ ลดโลกร้อน ตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม