TSU

นักวิจัย ม.ทักษิณ ถอดความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีขยายต่อสู่ชุมชน

   23 ก.พ. 67  /   125
นักวิจัย ม.ทักษิณ ถอดความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีขยายต่อสู่ชุมชน
 

นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ จับมือกับทีมนักจัดการงานพัฒนาเชิงพื้นที่ตำบลชัยบุรี  โครงการการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลธุรกิจชุมชนเกื้อกูลตามภูมินิเวศเขา-นา จังหวัดพัทลุง ภายใต้ชุดโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ปีที่ 3 ที่ สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท. ถอดความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ขยายผลสู่ชุมชน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

 

เมื่อ 23 ก.พ. 67 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ จับมือกับทีมนักจัดการงานพัฒนาเชิงพื้นที่ตำบลชัยบุรี โครงการการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลธุรกิจชุมชนเกื้อกูลตามภูมินิเวศเขา-นา จังหวัดพัทลุง ภายใต้ชุดโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ปีที่ 3 ที่ สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท. ได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนประสบการการณ์เรื่อง การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ณ องค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยได้รับเกียรติจาก นายวุฒิชัย มุสิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี กล่าวเปิดโครงการฯ การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 75 คน โดยผู้เข้าร่วมได้ร่วมเรียนรู้หลักการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี การเลือกพันธุ์ไก่ไข่ การสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ การบันทึกข้อมูลและต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี การคัดคุณภาพไข่ไก่ รวมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการตลาดของไข่ไก่อารมณ์ดี จากอาจารย์ ดร.วิศาล อดทน คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน และ อาจารย์ ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัย ร่วมกับประสบการณ์ของนักจัดการงานพัฒนาเชิงพื้นที่ตำบลชัยบุรี นายจำเริญ แก้วประชุม ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรี นางมาลินี แก้วประชุม และ นางสาวธันยานี แก้วเหมือน 

   

   

ดร.วิศาล อดทน นักวิจัยโครงการ กล่าวว่า ไข่ไก่อารมณ์เป็นไข่ไก่ที่ได้จากไก่ไข่ที่มีความสุข เลี้ยงไก่ในสภาพที่ไม่มีความเครียด หรือมีความเครียดต่ำ ไก่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้อย่างอิสระ ดังนั้นการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรงเป็นวิธีการเลี้ยงที่ทำให้แม่ไก่มีความสุข มีอิสระในการเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติ จึงมีอารมณ์ที่ดี มีความเครียดต่ำ สุขภาพแข็งแรง ลดการใช้ยาปฏิชีวนะภายในฟาร์ม จึงเรียกได้ว่า “ไก่อารมณ์ดี”  สำหรับที่มาของการปั้นโมเดลธุรกิจแบบเกื้อกูลด้วยการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี

ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ชัยบุรีโมเดล ไข่ไก่อารมณ์ดี-แฮปปี้ฟาร์มเป็นโมเดลธุรกิจเกษตรแบบเกื้อกูล เป็นการบูรณาการทำงานแบบมีส่วนร่วมโดยในพลังของกลุ่มในระดับพื้นร่วมกับทั้งภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ โดยการนำความรู้งานวิจัย วิทยาศาสตร์ และการนำนวัตกรรมพร้อมใช้หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate technology) ของมหาวิทยาลัยทักษิณผสานกับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทกลุ่มเป้าหมายมาพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพและเพิ่มทักษะการดำรงชีพเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนจน และครัวเรือน จากการดำเนินงานในช่วงระยะที่ผ่านมา คณะทีมวิจัยฯ ขับเคลื่อนด้วยกลไกทั้งความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น/ท้องที่ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง องค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หน่วยงานจากภาคประชาคม ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรี และเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง และการเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย โดยกระบวนการทำงานได้วิเคราะห์ศักยภาพของกลุ่มและพื้นที่ มีการวางเป้าหมายร่วมและลงทุนร่วมเพื่อจะขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจการเกษตรแบบเกื้อกูล ผลลัพธ์ของการดำเนินงานว่าเป็นการเพิ่มทุนทางสังคมซึ่งเป็นการเติบโตทางเศรฐกิจแบบเกื้อกูล เกิดการสร้างอาชีพและการจ้างงานแก่กลุ่มเปราะบาง พื้นที่การเรียนรู้ด้านอาชีพ สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้กับชุมชน ยกระดับกลไกและกระบวนการของสวัสดิการุมชนที่สร้างสรรค์โอกาสแก่สังคม และมีการคืนกำไรให้กับสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนผู้ร่วมรับผลประโยชน์จากดำเนินโครงการ