TSU

คณะ อกช. มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเต็ม ออกบูธโชว์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากหลักสูตร Non degree cosmetic ในงาน ABI show case

   8 เม.ย. 67  /   52
คณะ อกช. มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเต็ม ออกบูธโชว์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากหลักสูตร Non degree cosmetic ในงาน ABI show case
 

คณะ อกช. มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเต็ม ออกบูธโชว์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากหลักสูตร Non degree cosmetic ในงาน ABI show case  รุกตลาดเครื่องสำอาง&ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สุขภาพ

 

 

 

วันที่ 8 เมษายน 2567 คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดกิจกรรมแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการอบรมหลักสูตร Non degree cosmetic โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน  ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัทรดา เทพประดิษฐ์  คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมต้อนรับและรายงานการจัดงาน มีผู้ประกอบ นักวิจัย คณาจารย์และบุคลากร ร่วมงาน ณ ลานกิจกรรม ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ ร่วมกิจกรรม และซื้อผลิตภัณฑ์ภายในงาน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์อธิการบดี กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสความตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพ ธรรมชาติบำบัด ทุกกระแสของระบบสุขภาพจะไหลบ่าเข้าสู่ธรรมชาติ ถ้าเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการยกระดับต่อยอดและทำให้ได้มาตรฐานด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งหลายได้พยายามทำอยู่นั้นถือว่ามาถูกทาง ถูกที่ ถูกเวลา ตรงกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งถือได้ว่าเป็นคุณูปการที่สำคัญมาก ๆ ในการบุกเบิกเส้นทาง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ด้านการบริโภคให้แก่ผู้คนในสังคม  สภาพสังคมในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนโหยหาทางเลือกใหม่ ๆ วิถีชีวิตและประสบการณ์ทางเลือกใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  จึงเกิดเป็นความต้องการในการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง หรือแม้แต่การส่งเสริมวิถีชีวิตให้มีความยั่งยืน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ขอเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามร่วมส่งเสริม สนับสนุน เรามีปณิธานว่า เราจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนผู้ประกอบการจากระดับฐานรากไปสู่มาตรฐานระดับสากลยิ่งขึ้น  มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็น The Glocal University ที่มุ่งยกระดับภูมิปัญญา สิ่งดีงามทั้งมวลที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยทักษิณจะเป็นสะพานเชื่อมโยงดึงสิ่งที่มีคุณค่า ดึงระบบภูมิปัญญา องค์ความรู้ของชุมชน ในท้องถิ่น เพื่อยกระดับให้สู่มาตรฐานสากล ทำให้โลกรู้จักพวกเรามากยิ่งขึ้น  เชื่อมั่นว่าด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง  ความมานะพยายาม บนเส้นทางของการถากถางและการประกอบการที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ จะโน้มนำสู่ความยั่งยืนอันจะเป็นพลังให้กับพวกเราทุกคน  ขอเป็นกำลังใจในการบุกเบิกถากถางเส้นทางนี้ไปด้วยกัน เป็นทางเลือกใหม่ เป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นคุณภาพของผู้คนในสังคม เป็นความยั่งยืนตลอดไป

      

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัทรดา เทพประดิษฐ์  คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดหลักสูตร non degree cosmetic เป็นหลักสูตรที่สนองความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการ โดยเป็นไปภายใต้นโยบาย The Glocal University ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมการวิจัยจากฐานภูมิปัญญาชุมชน  สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนหลักสูตร non degree cosmetic จัดรูปแบบการเรียนออนไลน์ และออนไซต์ เรียนออนไลน์ ภาคบรรยายวันละ 3 ชั่วโมง (รวม 60 ชั่วโมง) เรียนออนไซต์ ภาคปฏิบัติ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ (รวม 168 ชั่วโมง) และการศึกษาดูงานสถานประกอบการ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดหลักสูตรต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยเฉพาะการออกแบบหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับตลาดผู้บริโภค สอดคล้องกับนวัตกรรมสังคม  การเป็น Innovative,  Processed Food เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน  ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นด้วยการสำรวจความต้องการของตลาด เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ หลักสูตร non degree จะต้องตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเทรนด์การเปิดหลักสูตรในอนาคต จะประกอบด้วย อาหารแปลรูปคุณภาพสูง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารแปรรูป   เป็นต้น  

  

สำหรับกิจกรรม Moon shot ABI show case (non degree cosmetic) ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลักสูตรประกาศนียบัตรการผลิตเครื่องสำอางบำรุงผิวจากสารสกัดธรรมชาติ คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรประกาศนียบัตรการผลิตเครื่องสำอางบำรุงผิวจากสารสกัดธรรมชาติ จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย 4.0 ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยตอบสนองการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศ ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและผู้เรียน และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษาให้รองรับการจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย

  

ภายใต้การจัดการเรียนการสอน หลักสูตรมีเป้าหมายและการบรรลุตัวชี้วัดของหลักสูตรผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบทางด้านเครื่องสำอาง เพื่อให้ตอบโจทย์แลบรรลุตัวชี้วัด นโยบายในระดับมหาวิทยาลัย และสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ของคณะฯ ด้านการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม ความรู้ และทักษะในการรังสรรค์นวัตกรรมสู่ศตวรรษที่ 21  และด้านบริการวิชาการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัย สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ โดยภายในงานมี การจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การสาธิตและทดลองทำผลิตภัณฑ์ กิจกรรม workshop Cosmetic handcraft Lip balm และ Coffee scrub และการจัดแสดงบูธจากผู้ประกอบจาก  PK Cosmetic & Development  บูธผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ABI HASU ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยจากสารสกัดข้าวสังหยด นอกจากนี้ยังมีในส่วนนิทรรศการจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมจากนักวิจัยของคณะ ทางด้านเครื่องสำอาง อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับจำนวนบูธผู้เรียนประกาศนียบัตรการผลิตเครื่องสำอางบำรุงผิวจากสารสกัดธรรมชาติ จำนวน 7 บูธ ประกอบด้วย

บูธที่ 1 ครีมลองแล       
บูธที่ 2 GG Bright and Moisture Serum
บูธที่ 3 Rose whitening serum 
บูธที่ 4 Brightenning Essence Twenty-Five Plus        
บูธที่ 5 Wish Hazel Gel
บูธที่ 6 JAWWALEE BODY LOTION      
บูธที่ 7 P2N serum