TSU

ม.ทักษิณ จับมือเครือข่ายการศึกษาจังหวัดพัทลุง ยกนวัตกรรมการศึกษา สร้างหลักสูตรทักษะอาชีพ แก้ปัญหาความยากจน

   15 มิ.ย. 67  /   33
ม.ทักษิณ จับมือเครือข่ายการศึกษาจังหวัดพัทลุง ยกนวัตกรรมการศึกษา สร้างหลักสูตรทักษะอาชีพ แก้ปัญหาความยากจน
 

 

โครงการ "การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบนฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนจังหวัดพัทลุง" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งชัชดาพร เวหะชาติ และคณะทีมวิจัย จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดงานเปิดเวทีการประเมินผลการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมศิวา รอยัล จังหวัดพัทลุง   

งานดังกล่าวได้รับเกียรติเปิดจากนายเสรี จิตรเวช พัฒนาการชุมชนจังหวัดพัทลุง ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับ ในงานมีการจัดเสวนาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดพัทลุง การมอบรางวัลให้แก่โรงเรียนต้นแบบพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจากข้อมูลครัวเรือนคนจน รวมทั้งการนำเสนอผลงานนวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 20 โรงเรียน จากพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอปากพะยูน

 รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณพร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดพัทลุง เพื่อยกระดับการศึกษาและสร้างทุนมนุษย์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงขับเคลื่อนตามกรอบของ UNESCO ที่ว่า "การศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยขจัดความยากจน นำไปสู่สุขภาพที่ดี สนับสนุนประชาธิปไตย และรักษาสิ่งแวดล้อม" 

      

โครงการนี้ได้พัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะการเรียนรู้ทักษะอาชีพ โดยใช้กระบวนการฐานบริบทของชุมชนสร้างการเรียนรู้ทางทักษะวิชาชีพ ภายใต้ 4 กรอบทุน ได้แก่ 1) กรอบทุนทางระบบนิเวศ  2) กรอบทุนทางผลิตภัณฑ์ 3) กรอบทุนทางวัฒนธรรม และ 4) กรอบทุนการท่องเที่ยวและบริการ โดยมีหลักสูตรท้องถิ่นการสร้างงานอาชีพจังหวัดพัทลุง (Phatthalung Province Career Base Curriculum Framework) อาทิ หลักสูตรความเป็นเลิศมโนราห์ของโรงเรียนบ้านท่าแค และหลักสูตรบาติกเมืองลุงของ โรงเรียนเทศบาลอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำไปการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและขยายผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา