TSU

ก้าวแรกของมหาวิทยาลัยทักษิณกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

   15 มิ.ย. 67  /   55
ก้าวแรกของมหาวิทยาลัยทักษิณกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
 

ก้าวแรกของมหาวิทยาลัยทักษิณกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) Times Higher Education (THE) องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ “THE Impact Rankings” ประจำปี 2567 

 

     จากฐานข้อมูล THE (2567) พบว่า มีมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 2,152 แห่ง จาก 125 ประเทศ (เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีมหาวิทยาลัยร่วมจัดอันดับ 1,591  แห่ง) โดยมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 1,963 เเห่ง สำหรับภาพรวมของมหาวิทยาลัยในไทยปีนี้ พบว่า มหาวิทยาลัยจากประเทศไทยส่งข้อมูลและได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 77 แห่ง เพิ่มขึ้นจำนวน 12 แห่ง จาก 65 เเห่ง เมื่อปี 2566 โดยพบว่ามีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชมงคล แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความตั้งใจของภาควิชาการไทยในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

     ผลการจัดอันดับจากฐานข้อมูล THE (2567) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับการจัดอันดับ 801-1000 ระดับโลก และอันดับที่ 9 ร่วมของกลุ่มคะแนนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศ สำหรับการจัดอันดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ละด้านพบว่า
     - SDG 7: Affordable and Clean Energy (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) อันดับ 101-200 ระดับโลก อันดับที่ 3 ร่วมของกลุ่มคะแนนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศ
     - SDG 2: Zero Hunger (ขจัดความหิวโหย) อันดับ 301-400 ระดับโลก อันดับที่ 8 ร่วมของกลุ่มคะแนนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศ
     - SDG 6: Clean Water and Sanitation (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) อันดับ 401-600 ระดับโลก อันดับที่ 6 ร่วมของกลุ่มคะแนนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศ
     - SDG 12: Responsible Consumption and Production (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) อันดับ 401-600 ระดับโลก อันดับที่ 6 ร่วมของกลุ่มคะแนนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศ

 

     มหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนต่อการขับเคลื่อนนโยบายก้าวสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโครงการ TSU-SDGs for Sustainability ที่ผ่านมา เป็นการแสดงเจตนาร่วมกันทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยเพื่อผลักดันให้การศึกษา วิจัย บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมสนับสนุนเป้าหมาย SDGs โดยมีปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมเช่น การเปิดโอกาสการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกช่วงวัย  โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โครงการสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย และโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จะเป็นกรอบแนวคิดที่จะช่วยกำหนดทิศทางการทำงานได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงการได้แสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน และสังคมโลก