TSU

สถาบันทักษิณคดีศึกษา ม.ทักษิณ ร่วมภาคีเครือข่าย เปิดเส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ

   20 ส.ค. 67  /   14
สถาบันทักษิณคดีศึกษา ม.ทักษิณ ร่วมภาคีเครือข่าย เปิดเส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ
 

สถาบันทักษิณคดีศึกษา ม.ทักษิณ ร่วมภาคีเครือข่าย เปิดเส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมร้อยเส้นทางวัฒนธรรม เส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ  สัมผัสวิถีถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

 มหาวิทยาลัยทักษิณ โดย สถาบันทักษิณคดีศึกษา จ.สงขลา จัดโครงการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวต้นแบบ “ท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ” เปิดเส้นทางท่องเที่ยวบนวิถีวัฒนธรรม อันมีเป้าหมายที่สำคัญทั้งในแง่มุมของการสร้างคุณค่า ทำให้เกิดมูลค่า ทำให้เกิดการตระหนักของการอยู่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอนุรักษ์ กระบวนการส่งเสริมสนับสนุน และทำให้มีมูลค่าที่สามารถทำให้เกิดการพึ่งตนเองของชุมชน หรือทำให้ชุมชนมีความรัก มีความความหวงแหนร่วมกันในการอนุรักษ์มากขึ้น โดยการเชื่อมร้อยเส้นทางบนวิถีวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.67 ณ บริเวณหน้าลานประติมากรรมมโนราห์ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา เกาะยอ สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ได้จัดให้มีโครงการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวต้นแบบ “ท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยภาคีเครือข่าย  มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สมาคมส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสงขลา  สนง.ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  สงขลาภาคเอกชน บ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สื่อมวลชน ฯลฯ เปิดเส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ  พร้อมกับกล่าวต้อนรับคณะเดินทาง ร่วมพบปะผู้นำชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และร่วมรับประทานอาหาร สำรับโหนด นา เล ของดีของหรอยแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

  

 เส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ กำหนดสถานีวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ประกอบด้วย

สถานีวัฒนธรรมที่ 1 - ศูนย์เรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
     - เข้าชมศูนย์เรียนรู้และรับฟังเรื่องเล่าจากชุมชน”ทิ้งทำหม้อ”
     - ร่วม Work shop กิจกรรมปั้นหม้อ
     - ช็อปสินค้าที่ระลึก ชุดเผล้งสทิงหม้อ ผลิตภัณฑ์แฮนเมดจากใจชุมชน

 

สถานีวัฒนธรรมที่ 2  สวนเทพหยา ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา

     - รับการต้อนรับจาก คุณชาญวิทย์ รัตนชาติ เป็นเจ้าของและผู้จัดการสวนเทพหยา ศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมคนดี สู่วิถีพอเพียง
     - ร่วม Work shop ขนมพื้นบ้าน วัตถุดิบจากชุมชน
     - นั่งรถรางชม แผ่นดินธรรม แผ่นดินทองทุ่งนา และป่าโหนด
     - ครั้งหนึ่งในชีวิตเยือน บ้านธัมมะภาคใต้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ
     - ร่วมรับฟังสาระธรรม ธรรมมะตามแนวทาง อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ

  

สถานีวัฒนธรรมที่ 3 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตาลโตนด โหนด นา เล ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา                

     - รับการต้อนรับจากผู้นำชุมชนเจ้าของภูมิปัญญาวัฒนธรรมตาลโตนดแห่งคาบสมุทรสทิงพระ
     - ชื่นใจกับน้ำตาลโตนดสด น้ำดื่มสมุนไพรจากชุมชน
     - ฟังเรื่องเล่าวิถีคนแผ่นดินบก ว่าด้วยภูมิปัญญาโหนด นา เล ของดีท่าหิน
     - ตามไปดู พาไปชม”คนขึ้นโหนดด้วยการปีนโอง และการเฉาะยุมโหนด

  

สถานีวัฒนธรรมที่ 4 วัดต้นเลียบ (สถานที่ฝังรกหลวงปู่ทวด) ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา

- พระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริกกโธ  เจ้าอาวาสวัดต้นเลียบ ต้อนรับคณะ พร้อมเล่าเรื่อง ตำนานหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และมอบวัตถุมงคลเพื่อเป็นสิริมงคล

– เดินทางต่อเนื่องกราบหลวงปู่ทวด (สมเด็จเจ้าพะโคะ) ณ วัดพะโคะ หรือ วัดราชประดิษฐาน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า  การดำเนินงานโครงการนี้ว่า ภายใต้วิสัยทัศน์เป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การส่งเสริมนวัตกรรมสังคมบนฐานของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เราพยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนเรื่องของการวิจัย เรื่องของการพัฒนานวัตกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อที่จะทำให้เกิดเป้าหมายของการอนุรักษ์รักษาทางด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างระบบคุณค่า สร้างระบบของการหลอมรวมผู้คนให้ร่วมกันตระหนัก และก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการขับเคลื่อน ที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญากลายเป็นมูลค่าทางสังคมขึ้นมาให้ได้  ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และทำให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความเข้มแข็ง

เพราะฉะนั้นการที่ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีโครงการวิจัย หรือโครงการบริการวิชาการด้านการทำเส้นทางท่องเที่ยวบนวิถีวัฒนธรรม อันมีเป้าหมายที่สำคัญทั้งในแง่มุมของการสร้างคุณค่า ทำให้เกิดมูลค่า ทำให้เกิดการตระหนักของการอยู่ร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการอนุรักษ์ ในกระบวนการส่งเสริมสนับสนุน และทำให้มีมูลค่าที่สามารถที่จะทำให้เกิดการพึ่งตนเองของชุมชน หรือทำให้ชุมชนมีความรักมีความความหวงแหนร่วมกันในการอนุรักษ์มากขึ้น โดยการเชื่อมร้อยเส้นทางบนวิถีวัฒนธรรม

พื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลามีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา  เป็นความหลากหลายเชื่อมโยงด้วยระบบภูมินิเวศของความเป็นท้องถิ่น ดังนั้นการทำเส้นทางการท่องเที่ยว ผมเชื่อว่านี่คือ การร้อยวัฒนธรรม ร้อยความแตกต่างหลากหลาย แล้วทำให้เห็นทิศทางเห็นความร่วมมือ เห็นพลัง  ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เห็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัย เห็นความร่วมมือของนักวิจัยที่จะไปร่วมมือสนับสนุนกับชุมชนท้องถิ่นผมว่าอันนี้ก็จะเป็นขบวนที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่นในการที่จะลุกขึ้นมาจัดการตนเองชุมชนทั้งในแง่มุมทางด้านการท่องเที่ยวหรือการลุกขึ้นมาจัดการตนเองชุมชนทั้งในแง่มุมการทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในในมิติต่างๆ ในอนาคตทางด้านศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจสังคม ต่างๆเหล่านี้ เป็นต้น

 

ในตอนท้ายสุดนี้ อธิการบดี ม.ทักษิณ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ ว่า สังคมยุคหลังโควิด ถนนทุกสายจะพุ่งไปหาชุมชนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เป็นชุมชนท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ใหม่ องค์ความรู้ใหม่ มุมมองใหม่ๆ ที่จะเปิดให้ผู้คนเหล่านี้ได้มาพบมาสัมผัสกับความแปลกต่างความแปลกใหม่ และก็จะเป็นประสบการณ์ชีวิตใหม่ ผมจึงอยากส่งเสริมสนับสนุน และอยากจะเชิญชวน คนในสังคมหรือนักท่องเที่ยว หรือผู้คนที่สนใจชุมชนท้องถิ่นได้มาให้ความสำคัญและร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการอนุรักษ์ทางด้านศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในรูปแบบต่างๆมากยิ่งขึ้น และก็ผมเชื่อมั่นว่าเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดความเข้มแข็งของสังคมไทยจากข้างล่าง ความเข้มแข็งของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานการจัดการ ของตนเอง เป็นฐานความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่บนฐานของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ทำให้เราทุกคน สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข   เป็นความสุขที่เราสามารถสัมผัสได้ร่วมกัน