TSU

ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติจากวิสาหกิจชุมชน สู่รันเวย์ครีเอทีฟนิสิตศิลปกรรม ม.ทักษิณ ในงานฟาร์มสุกที่บ้านนา ปีนเขา แลหมอก หยอกตะวัน

   30 ส.ค. 67  /   21
ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติจากวิสาหกิจชุมชน สู่รันเวย์ครีเอทีฟนิสิตศิลปกรรม ม.ทักษิณ ในงานฟาร์มสุกที่บ้านนา ปีนเขา แลหมอก หยอกตะวัน
 

ลวดลาย สีสัน บนพื้นผ้า ถูกออกแบบอย่างสร้างสรรค์ ตัดเย็บอย่างปราณีต อธิการบดีสวมใส่ อวดงานศิลป์ชิ้นเอกนิสิตศิลปกรรม บนรันเวย์ฟาร์มสุกที่บ้านนา พัทลุง ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติจากแบรนด์ชุมชนศรีนาคาและไร่เคียงตะวัน ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง

 

จากผลการดำเนินโครงการโมเดลแก้จนสวัสดิการชุมชนเกื้อกูล : คนเมืองลุงไม่ทอดทิ้งกัน วิสาหกิจชุมชน “ศรีนาคา” สู่แรงบันดาลใจของการออกแบบชุดโดยนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ หลักสูตรศิลปะการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ถูกสวมใส่โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ บนรันเวย์เดินแบบผ้าไทยสโลว์ไลฟ์ที่บ้านนา ณ งานฟาร์มสุกที่บ้านนา เทศกาลปีนเขา แลหมอก หยอกตะวัน จุดชมวิวเทศบาลตำบลบ้านา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 พร้อมด้วยนายแบบและนางแบบจากไร่เคียงตะวันที่นำเสนออัตลักษณ์เฉพาะถิ่นผ่านลวดลายผ้าอย่างงดงาม

ผลงานการออกแบบชุดสูทลำลองในครั้งนี้เหมาะกับวันสบาย ๆ แต่ยังคงความสมาร์ทของผู้สวมใส่ไว้ ไม่ว่าจะ­แมชในลุคกึ่งทางการหรือไม่เป็นทางการ ผ้าที่ใช้เป็นผ้าบาติกสีธรรมชาติ (ศรีนาคาโมเดล) เนื้อผ้าฝ้ายและผ้าลินิน สีของผ้าได้มาจากกรรมวิธีย้อมด้วยเปลือกฝาง (สีชมพู) ใบมังคุด (สีน้ำตาล) โดยถูกย้อมเป็นระยะเวลานานเพื่อให้ได้สีที่เข้มขึ้น เนื้อผ้าถูกสอดแทรกไปด้วยลวดลายของใบและดอกปาริชาติ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยทักษิณ สีส้มแดงของลายได้มาจากผงครั่ง โดยถูกจัดวางลายแบบอิสระ หรือสลับฟันปลา ผสมผสานระหว่างใบและดอก ผลงานดังกล่าวมีนิสิตผู้ออกแบบร่วมกันทั้งหมด 6 คน ได้แก่

     1. นายปัณณธร สวัสดี

     2. นายวรากร สัยบริสุทธิ์

     3. น.ส.สุมิตตา ละเอียดขำ

     4. น.ส.อภิสรา ภิรมย์

     5. น.ส.นภ้สร แก้วงาม

     6. น.ส.นาซีเต๊าะห์ ปูยัง

   

“ฟาร์มสุกที่บ้านนา ปีที่ 2“ เทศกาลปีนเขา แลหมอก หยอกตะวัน จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลบ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 บริเวณจุดชมวิวเทศบาลตำบลบ้านา มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว สัมผัสวิถีชุมชนของ อ.ศรีนครินทร์ อีกทั้งยังเป็นเวทีของนักออกแบบที่สามารถดึงเอาเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาในชุมชน มาสร้างสรรค์เป็นผลงานระดับคุณภาพได้อย่างแท้จริง