TSU

พื้นที่รับน้ำมหาวิทยาลัยทักษิณบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพียงพอผลิตประปาสะอาดปลอดภัย

   7 พ.ย. 66  /   252
พื้นที่รับน้ำมหาวิทยาลัยทักษิณบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพียงพอผลิตประปาสะอาดปลอดภัย
 

บนเนื้อที่ 2,658 ไร่ ในภูมิประเทศด้านตะวันตกทิวเขาสลับซับซ้อน ไกลออกไปทางตะวันออกเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เมื่อฤดูลมมรสุมผ่านมาถึง น้ำฝนก็จะไหลผ่านพื้นที่ออกสู่ทะเลไปตามเส้นทาง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่รับน้ำผิวดิน และบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งระบบป้องกันน้ำท่วม และเป็นแหล่งน้ำดิบไว้ผลิตน้ำประปาให้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐาน

 

     
     
     อย่างที่เข้าใจ น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช การทำงานของระบบต่าง ๆ ในพืชและสัตว์ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ แต่ทรัพยากรที่สำคัญได้เกิดการขาดแคลนมากขึ้น ทำให้มีแรงกดดันที่ผลักดันให้เกิดการดำเนินการร่วมกัน รวมถึงการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนเพื่อเพิ่มและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการน้ำ โดยส่วนใหญ่จะเป็นน้ำทะเลหรือน้ำเค็มประมาณ 97% ส่วนที่เหลือเป็นน้ำจืดเพียงร้อยละ 3% หากคิดจากน้ำจืดเป็น 100% พบว่าส่วนใหญ่เป็นธารน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็งประมาณ 70% ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล 29% และมีน้ำผิวดินเพียง 1% เท่านั้น

     

     มหาวิทยาลัยทักษิณดำเนินนโยบายผลักดันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล ได้คำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ สร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยทักษิณได้มีการจัดเตรียมแหล่งน้ำผิวดินไว้หลายแห่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของวิทยาเขตพัทลุงซึ่งสามารถรับน้ำและช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมชุมชนปลายน้ำ อีกทั้งสามารถใช้ผลิตน้ำประปาผิวดินได้อย่างมีคุณภาพ

     

     มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ใช้แหล่งน้ำดิบขนาดพื้นที่ 340,736 ตารางเมตรในการผลิตน้ำประปาผิวดิน ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคของทุกคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันในมหาวิทยาลัย ทั้งบุคลากร นิสิต และนักเรียน จำนวน 3,890 คน ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำประปาไว้รองรับการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยปริมาณ 1,000-1,300 ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน

     การผลิตน้ำประปาผิวดินไว้ใช้เอง ทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณสามารถควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตน้ำประปา มีการเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพกับห้องปฏิบัติการเพื่อความสะอาดปลอดภัยของผู้ใช้อุปโภคบริโภคตามมาตรฐานประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ.2524), ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 41 ง ลงวันที่ 19 มีนาคม 2552 และมาตรฐานการประปาส่วนภูมิภาค

       

      

      ไม่ว่าฤดูมรสุมที่น้ำฝนทั่วสารทิศหลั่งไหลมาสู่พื้นที่รับน้ำแห่งนี้ หรือฤดูร้อนแล้งที่แหล่งน้ำดิบพร่องลง ก็มั่นใจได้ว่า ปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำและน้ำประปาที่มหาวิทยาลัยทักษิณผลิต สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐานการอุปโภคบริโภค