TSU

City branding คนเลสาบเมืองปากพะยูน ศิลปะบนฝาผนัง ผลงานนิสิต ม.ทักษิณ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเมือง มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ทะเลสาบสงขลาบนฐานชุมชน

   13 ก.พ. 67  /   16
City branding คนเลสาบเมืองปากพะยูน ศิลปะบนฝาผนัง ผลงานนิสิต ม.ทักษิณ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเมือง มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ทะเลสาบสงขลาบนฐานชุมชน
 

คณาจารย์และนิสิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายชุมชน สร้าง Street Art แบรนด์เมือง “คนเลสาบเมืองปากพะยูน”  บอกเล่าเรื่องราวและอัตลักษณ์ตามวิถีชุมชนปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร อาจารย์สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าร่วมปฏิบัติการว่า ปฏิบัติการนี้เป็นการบริการวิชาการด้วยศาสตร์ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ สร้างสรรค์เมืองแห่งการเรียนรู้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ท้องที่ ชุมชน และภาคีเครือข่าย ในโครงการทะเลสาบสงขลานิเวศแห่งการเรียนรู้สู่เมืองมรดกโลก ภายใต้กรอบการวิจัย “การยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยมีนางสาววิจิตรา อมรวิริยะชัย นักวิชาการจากสำนักงานส่งเสริมบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ถือเป็นเมืองที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายเช่น การสร้างพื้นที่ศิลปะ Street Art ที่บอกเล่าเรื่องราวและอัตลักษณ์ตามวิถีชุมชนปากพะยูน ณ ชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 1 ตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยการนำนิสิตทัศนศิลป์ ชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  มาร่วมกันออกแบบเมืองแห่งการเรียนรู้บนการศึกษาฐานประวัติศาสตร์ชุมชน ภูมินิเวศ ภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรม ด้วยหลักสูตรท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา  

   

นางสาววิจิตรา อมรวิริยะชัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยทะเลสาบสงขลานิเวศแห่งการเรียนรู้สู่เมืองมรดกโลก ภายใต้กรอบการวิจัย “การยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีความมุ่งหวังในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทะเลสาบสงขลาในพื้นที่เมืองปากพะยูนบนฐานชุมชนด้วยการเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่นในรูปแบบออน์ไซต์และออนไลน์สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคนในกลุ่มชาวประมง นักเรียน และผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับการจัดการพื้นที่การเรียนรู้ด้วยกลไกตลาดกลางสัตว์น้ำชุมชนสร้างแบรนด์เมือง “คนเลสาบเมืองปากพะยูน” สู่เศรษฐกิจเกื้อกูลเชิงสร้างสรรค์ และยกระดับการจัดการทะเลสาบสงขลาด้วยกลไกคณะกรรมการสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขับเคลื่อนธรรมนูญทะเลสาบสงขลาเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัดพัทลุง และแผนพัฒนาทะเลสาบสงขลาภาคประชาชน โดยมีกลไกการจัดการนิเวศเมืองที่มีองค์ประกอบทั้งภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิธรรม ภูมิปัญญา กลไกการสร้าง City branding “คนเลสาบ” ซึ่งเป็นจุดตลาดกลางสัตว์น้ำของชุมชน สินค้าที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นภาพที่เห็นบนฝาผนังของชุมชนจึงเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของคนเลสาบ