TSU

แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ม.ทักษิณ เดินหน้าลุยโครงการวิจัย มวยไทยเมืองลุง สู่ Soft Power

   24 มี.ค. 67  /   73
แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ม.ทักษิณ เดินหน้าลุยโครงการวิจัย มวยไทยเมืองลุง สู่ Soft Power
 

มหาวิทยาลัยทักษิณ นำทีมภาคีเครือข่ายประชุม ร่วมหาทิศทางเดินหน้าลุยโครงการวิจัย "มวยไทยเมืองลุง" มุ่งขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

 

ในวันศุกร์ ที่ 22 มีนาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และคณะทำงานของมหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายในพื้นที่และภาคีเครือข่ายมวยไทยเมืองลุง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง สภาวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ประกอบการค่ายมวย และครูมวยในจังหวัดพัทลุง ร่วมประชุมเพื่อหาทิศทางในการเดินหน้าโครงการวิจัย "มวยไทยเมืองลุง : พลังเครือข่ายแบบมีส่วนร่วมและการจัดการทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน"  ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน ววน. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ณ ห้องประชุมทานตะวัน SC1218 คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

บรรยากาศการประชุมเข้มข้นไปด้วยการปล่อยหมัดงัดไอเดียจากทุกภาคส่วนเพื่อแบ่งปัน เสนอแนะ และให้แนวทางการทำงานแก่กันและกัน รวมทั้งบอกเล่าข้อจำกัด จุดอ่อน จุดแข็งของแต่ละภาคส่วน มีการวางโจทย์ กำหนดเป้าหมาย ลงรายละเอียดของกิจกรรม และกระบวนการที่จะทำต่อ ๆ ไป อาทิ จัดอบรมผู้ฝึกสอนกีฬามวยไทยอาชีพระดับ A-, B- หรือ C-license และกำหนดเกณฑ์ในการจัดอันดับคุณภาพของนักกีฬามวยไทย ถ่ายทอดหลักสูตรมวยไทยขั้นพื้นฐาน รวมถึงบูรณาการหลักสูตรมวยไทยเมืองลุงเป็นรายวิชาเลือกในสถานศึกษา พัฒนาหลักสูตรมวยไทย คีตะมวยไทย และท่าทางการร่ายรำไหว้ครูของนักมวยไทยเมืองลุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมมวยไทยเมืองลุง เช่น ยาสมุนไพรเพื่อป้องกัน บรรเทาอาการบาดเจ็บก่อนและหลังการชก น้ำมันนวดกล้ามเนื้อสำหรับนักมวย อุปกรณ์ฝึกทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์การกีฬา กางเกงมวย ประเจียด มงคล เสื้อคลุม รวมไปถึงของที่ระลึก ซึ่งอาจจะมีรูปแบบผสมผสานศิลปะมโนราห์เพื่อสร้าง อัตลักษณ์เฉพาะของ “มวยไทยเมืองลุง” อีกทั้งการผลักดันมวยไทยเมืองลุงให้อยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยว เป็นต้น กิจกรรมและกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นภาพ “ทิศทางเดิน” ของโครงการฯ และการเติบโตของทุนวัฒนธรรม “มวยไทยเมืองลุง” ในอนาคตชัดเจนขึ้นตามลำดับ ซึ่งแต่ละภาคส่วนต่างวางบทบาทกันตามความถนัดเพื่อเอื้อการทำงานแก่ภาคอื่น ๆ 


 

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยืนหลักในการต่อยอดองค์ความรู้โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนา ผนึกกำลังกับภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นครูมวย นักมวย ผู้ประกอบการมวยไทยในจังหวัดพัทลุง รวมถึงศิลปิน เทรนเนอร์ และผู้สนใจ ซึ่งอยู่ในบทบาทผู้สืบทอดและต่อยอดองค์ความรู้ ในส่วนของภาครัฐและเอกชน มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรม “มวยไทยเมืองลุง” การดำเนินงานของโครงการฯ นี้ จึงเป็นความร่วมมือ และการรวมพลังภาคีเครือข่ายหลักทั้ง 3 ภาคส่วน ซึ่งเปรียบเสมือน “เชือกสามเกลียว” ที่เหนียวแน่น แข็งแรง ทรงพลัง ด้วยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม มุ่งจัดการทุนวัฒนธรรม “มวยไทยเมืองลุง” โดยสร้างคุณค่า และขยายผลสู่มูลค่า เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และยิ่งกว่านั้น คือการผลักดันให้ “มวยไทยเมืองลุง” กลายเป็น Soft Power ที่จะขับเคลื่อนและมีส่วนในมิติต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพ การกีฬา และการท่องเที่ยว เป็นต้น