TSU

ม.ทักษิณ จัดประชุมชี้แจงนโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดสรรงบประมาณกองทุน ววน. พร้อมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นประจำปีงบประมาณ 2567

   27 เม.ย. 67  /   164
ม.ทักษิณ จัดประชุมชี้แจงนโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดสรรงบประมาณกองทุน ววน. พร้อมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นประจำปีงบประมาณ 2567
 

มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดประชุมชี้แจงนโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดสรรงบประมาณกองทุน ววน. พร้อมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น ประจำปีงบประมาณ  2567

 

  

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดสรรงบประมาณกองทุน ววน.” ภายใต้โครงการขับเคลื่อน “นวัตกรรมสังคม” ภายใต้แผนงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ (TSU-SIM : TSU-SOCIAL INNOVATION MOVEMENT) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นวิทยากร โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุม 18510 อาคาร 50 ปี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ทั้งนี้มี คณบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิจัยเข้าร่วมกว่า 120 คน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณได้กำหนดวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ ภายในปี 2570” และตำแหน่งมหาวิทยาลัย “กลุ่มที่ 2 การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology and Innovation)” โดยการขับเคลื่อนพลิกโฉมมหาวิทยาลัยทักษิณ (Reinventing Thaksin University) ไปสู่ “The University of Glocalization” มีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรมสังคม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

พร้อมทั้งได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2564 -2568 (TSU-Social Innovation Movement ; TSU SIM Movement)  ประกอบด้วย แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อโจทย์ท้าทายของสังคม แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ มาเป็นระยะเวลา  3 ปี 

  

รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร  แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน ววน. เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ปีละประมาณ 10 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้รับการสนับสนุนทุน FF รอบ Pre-Ceiling เป็นเงิน 15,735,000 บาท (สิบห้าล้านเจ็ดแสนสามหมื่นห้าพันบาทถ้วน) จำนวน 7 แผนงาน ได้แก่ 1) เกษตรและประมง 2) อาหารสุขภาพและฟังก์ชัน 3) พลังงานทางเลือก 4) เวชสำอางสมุนไพร 5) ผู้สูงวัย 6) งานวิจัยพื้นฐาน 7) การศึกษา มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเป็นปีแรกที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน ST) 30,028,000 บาท และได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) ปีละ 30-40 ล้านบาท โดยได้รับงบประมาณจาก PMU ที่สำคัญ ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

   

โดยในปี 2567 มหาวิทยาลัยทักษิณมีแผนในการทบทวนและปรับปรุงแผน ววน.ของมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อให้ตอบสนองต่อแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยได้รับฟัง “นโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดสรรงบประมาณกองทุน ววน.” 

การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงผลการขับเคลื่อนแผน ววน.มหาวิทยาลัยทักษิณ แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagships) ที่สะท้อนอัตลักษณ์และความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย และรับทราบนโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดสรรงบประมาณกองทุน ววน. ในการวางแผนการการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่อไป 

 

นอกจากการบรรยายพิเศษแล้ว กิจกรรมในวันนี้ยังจัดให้มีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นจากคณะ ส่วนงาน และศูนย์วิจัย รวมทั้งหมด 18 หน่วยงาน บริเวณลานชั้น 1 อาคาร 50 ปี วิทยาเขตสงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ จำนวน 120 คน  ซึ่งทีมงาน สถาบันวิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพจัดงาน ร่วมกับหน่วยงานภาคี นักวิจัยที่ร่วมจัดนิทรรศการ ได้แก่ วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา (UMDC),คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ,คณะวิศวกรรมศาสตร์,คณะพยาบาลศาสตร์, คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา,คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ, คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล, คณะศึกษาศาสตร์, คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน, อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม, สถาบันส่งเสริมการบริการวิชาการ, คณะศิลปกรรมศาสตร์ และโครงการแก้จน (คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล  นอกจากนี้สำนักงานวิทยาเขตสงขลา ยังได้เอื้อเฟื้อสถานที่และอำนวยความสะดวกการจัดงาน ซึ่งภายหลังจากคณะเยี่ยมชมบูธนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นเสร็จแล้ว ทางผู้จัดงานได้นำคณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณต่อไป