TSU

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ ประสบความสำเร็จการผลิต สระว่ายน้ำต้นแบบจากผ้าเคลือบยาง ลดปัญหาและสร้างรายได้ให้ชุมชน

   6 พ.ค. 67  /   132
ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ ประสบความสำเร็จการผลิต สระว่ายน้ำต้นแบบจากผ้าเคลือบยาง ลดปัญหาและสร้างรายได้ให้ชุมชน

ทีมวิจัยจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ประสบความสำเร็จการผลิต “สระว่ายน้ำต้นแบบจากผ้าเคลือบยาง” ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการสร้างสระว่ายน้ำได้ถึงประมาณ 300 เท่า ทั้งนี้ยังให้เยาวชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทีมวิจัยนำโดยอาจารย์ ดร.วีระวุฒิ แนบเพชร อาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมยางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาและแนวคิดการออกแบบการผลิต “สระว่ายน้ำต้นแบบจากผ้าเคลือบยาง” กับทีมข่าว TSU NEWS

 

เดิมเกษตรกรในพื้นที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการรวมกลุ่มเพื่อเลี้ยงปลาขายแบบใช้บ่อลอยเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่ายมีกำไรน้อยมาก กลุ่มผู้เลี้ยงปลาจึงมีความคิดที่จะพยายามลดต้นทุนในกระบวนการเลี้ยงปลาทั้งในส่วนของการพัฒนาอาหารปลาขึ้นเองในกลุ่ม โดยได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยทักษิณ และปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสามารถผลิตอาหารปลาที่มีสารอาหารตรงตามความต้องการของปลาได้แล้วในชุมชน นอกจากต้นทุนในส่วนของค่าอาหารที่สูงแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพบว่าต้นทุนในการทำบ่อเพื่อเลี้ยงปลาจากปูนซีเมนต์ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน ทั้งพื้นที่บริเวณอำเภอชะอวดยังเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นพื้นดินปนทราย ทำให้พื้นดินมีการยุบตัวอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้บ่อเลี้ยงปลาจากปูนซีเมนต์เกิดรอยแตก และซ่อมแซมได้ยาก โดยที่ผ่านมาบ่อเลี้ยงปลาจากปูนซีเมนต์มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เกษตรกรจึงหันมาเลี้ยงปลาโดยใช้พลาสติกหุ้มบ่อซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และทำได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตามการใช้พลาสติกหุ้มบ่อกลับมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง เมื่อปลาบางชนิดที่มีหนามบริเวณครีบ ใช้ครีบตำบริเวณผิวบ่อทำให้พลาสติกที่หุ้มบ่อมีรอยรั่ว และประสิทธิภาพในการเก็บน้ำก็ลดลง กลุ่มผู้เลี้ยงปลาจึงมองหาวัสดุที่สามารถใช้ทำบ่อลอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความคงทนแข็งแรงสามารถใช้งานได้นานกว่า 5 ปี และสามารถใช้งานได้ง่าย มีต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งบ่อจากผ้าเคลือบน้ำยางจึงเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสม นอกจากนั้นกลุ่มผู้เลี้ยงปลายังเห็นโอกาสในพื้นที่ ที่ขาดแคลนสระว่ายน้ำ จึงมีความคิดที่จะสร้างสระว่ายน้ำให้เด็กๆในชุมชนได้เรียนว่ายน้ำ ผสมผสานกับการเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเชิงเกษตรในชุมชน เพื่อดึงรายได้เข้าสู่ชุมชน และเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยการขายผลผลิตต่างๆ ทางการเกษตรให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม  สำหรับสระว่ายน้ำต้นแบบได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้แผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ปี 2564 

ทีมวิจัย ประกอบด้วยอาจารย์ ดร.วีระวุฒิแนบเพชรมม นายศักดิ์กรินทร์ เกลาฉีด นางสาวณัฐธกรณ์ ชำนาญกิจ นายสุทิวัส ทุมรัตน์ นางสาวเพชรลดา จิระวรรณ และ นางสาวอาภัสรา อุชุภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ การผลิตสระว่ายน้ำต้นแบบจากผ้าเคลือบยาง ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งทางศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มุ่งพัฒนาเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในด้านต่าง ๆ โดยมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในรูปแบบของบ่อเลี้ยงปลาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงของการทดสอบการใช้งาน และเก็บข้อมูล  ส่วนแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพารา รชต ในการให้คำแนะนำในการปรับปรุงสูตรยาง ซึ่งปัจจุบันจากการทดสอบคุณสมบัติการใช้งานของยางปูสระจากผ้าเคลือบยางธรรมชาติตามมาตรฐาน มอก. 2733-2559 ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพารา รชต ผ่านตามมาตรฐาน และปัจจุบันมีการจำหน่ายและใช้งานจริงแล้ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร. วีระวุฒิ แนบเพชร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง 222 หมู่ 2 ต. บ้านพร้าว อ. ป่าพะยอม จ. พัทลุง 93210  หมายเลขโทรศัพท์ 086-2925501  

………………………………