TSU

งดงามล้ำค่า รวมศาสตร์ศิลป์ โนรา การแทงหยวก มรดกภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม นวัตกรรมสังคม สู่พระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีการศึกษา ๒๕๖๖

   19 ก.ย. 67  /   9
งดงามล้ำค่า รวมศาสตร์ศิลป์ โนรา การแทงหยวก มรดกภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม นวัตกรรมสังคม สู่พระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีการศึกษา ๒๕๖๖

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ความสำเร็จในเส้นทางการศึกษาและนำพาความภาคภูมิใจมายังบัณฑิต ครอบครัว และญาติมิตร นอกเหนือจากพระราชพิธีอันทรงเกียรติแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ความงดงามของเวที พระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งจะประดับประดา ตกแต่งอย่างสวยงามภายใต้แนวคิดต่างๆ ที่มักจะสะท้อนภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม สังคม เพื่อให้สมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์และเป็นเกียรติแก่เหล่าบัณฑิต
 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ นี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเทิดไว้เหนือเกล้าฯ แก่บัณฑิต  ในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร  ในวันจันทร์ ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๗

พระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตร และบริเวณเวทีในปีการศึกษานี้ได้นำเสนอเรื่องราว “นวัตกรรมสังคม” ที่ได้รวมศาสตร์ศิลป์ “โนรา” และ “การแทงหยวก” มรดกภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของชาวใต้ ประกอบด้วย ลวดลายการแทงหยวก เทริด เครื่องแต่งกายโนรา ลูกปัดโนรา และดอกไม้พื้นถิ่นใต้

แนวคิดการจัดแสดงองค์ความรู้ผ่าน “วัตถุมรดกภูมิปัญญา” จากตระกูลช่างและยุคของการทำเทริดและการสร้างลวดลายลูกปัดโนรา ยึดรูปแบบการร้อยลายลูกแก้วโบราณเป็นหลัก  โดยปรับรูปแบบบางส่วนจากชุดโนราของสายตระกูลโนราเติม วิน วาด ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒ มีลายลูกแก้วโบราณ และลายเส้นแบบสีธงชาติ  พัฒนากลีบดอกให้มีความโค้งมน อ่อนช้อย สวยงาม เข้มขรึมเป็นสีม่วงประจำพระองค์ ซึ่งเป็นสีหลักในการเรียงร้อยลูกปัด เสริมด้วยสีอื่นๆ ในโทนสีที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ดูสดใส สว่าง โดดเด่น ทันสมัย 

ในส่วนของการแทงหยวกสกุลช่างจังหวัดสงขลา กลุ่มร่องลายไทย เป็นผลงานการสร้างสรรค์ศิลปะพื้นบ้านอันเกิดจากภูมิปัญญาในการสรรหาวัสดุทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายเพื่อใช้ประดับตกแต่ง มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยทุกระดับทุกชนชั้น ตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา กระทั่งถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ “การแทงหยวก” เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยการใช้มีดปลายเรียวแหลมคล้ายใบข้าว มีคมทั้ง ๒ ด้าน ที่เรียกว่ามีดแทงหยวก แทงฉลุกาบกล้วย เป็นลวดลาย หรือเรียกว่า “การฉลุลายหยวก”

ลวดลายในการแทงหยวก เป็นลวดลายที่เกิดจากการฉลุแบบสด ๆ ไม่มีการร่างรูปแบบลายลงบนกาบกล้วย เป็นวิธีการฉลุเพื่อนำช่องไฟออกจะเหลือไว้เพียงส่วนของลวดลาย โดยจะต้องคำนึงถึงการฝากตัวลายไว้กับกาบกล้วยและส่วนที่คงเหลือของตัวลายเป็นสำคัญ ไม่นิยมการย้อมสี แต่จะให้ความสำคัญกับโครงสร้างของตัวลายและช่องไฟเป็นสำคัญ 

สำหรับงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจะนำการประดับลวดลายในแนวนอน ที่เรียกว่า ลายนอ มาใช้ประดับตกแต่ง รูปแบบลายจำแนกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) ลายเครื่องประกอบ ได้แก่ ลายกลีบบัวเล็ก  ลายกลีบบัวใหญ่  ๒) ลายนอ ได้แก่ ลายลูกฟัก ๓) ลายปิดมุม ได้แก่ ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ ใช้สำหรับปิดตรงช่วงรอยต่อของหยวกในแต่ละแพ สีในส่วนของช่องไฟเกิดจากการนำสีจากกระดาษทองเกรียบมาสาบรองไว้ด้านหลังของกาบกล้วยที่แทงลวดลาย ซึ่งใช้กระดาษสีม่วงเป็นหลัก ประดับแทรกด้วยสีอื่นๆ เพื่อให้เกิดคุณค่าด้านความงามมากที่สุด เสมือนการประดับด้วยกระจกสีในงานประดับลวดลายงานสถาปัตยกรรมไทย   
 

นับเป็นการผสมผสานของสองศาสตร์ศิลป์ที่งดงาม ลงตัว ก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมแห่งการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ที่สะท้อนวิถีชีวิตผ่านวัตถุทางวัฒนธรรม และรูปแบบลวดลายสัญญะทางคติความเชื่อซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรรมของชาติ