TSU

TSU Go Green ม.ทักษิณ หมุดหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

   14 ก.พ. 67  /   221
TSU Go Green ม.ทักษิณ หมุดหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
 

มหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญกับประเด็นสถานการณ์ของโลกคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจึงมุ่งการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งสนับสนุน ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ผนึกพลังความร่วมมือทั้งผู้บริหาร บุคลากร นิสิต และผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่เกื้อหนุนต่อการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดโครงการ TSU GO GREEN ในชุมชนมหาวิทยาลัย สร้างแรงกระตุ้นแก่เยาวชนและนิสิต

 

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานวิทยาเขตสงขลา จัดโครงการ TSU GO GREEN  ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และขับเคลื่อนหมุดหมายนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวโดยมี อาจารย์วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสงขลา เป็นประธานในพิธี กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนา TSU GO GREEN  หัวข้อ “Green University” การจัดแสดงนิทรรศการรักษ์โลก และนิทรรศการ TSU GO GREEN การประกวดแฟชั่นรักษ์โลก การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (จากวัสดุรีไซเคิล) สำหรับการเสวนามีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม  ผศ.ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง  หัวข้อ “การกำจัดขยะภายในมหาวิทยาลัย” อาจารย์ ดร. วิกาญดา  ทองเนื้อแข็ง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล  หัวข้อ “ภัยร้ายผ่าน PM 2.5 และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน” นางนำจิตร  จันทร์หอม ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา หัวข้อ “ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและแนวทางแก้ปัญหาจากนโยบายรัฐ” โดยมี ดร.บัณฑิต ทองสงฆ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพันธกิจสัมพันธ์ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ  ภายหลังจากการเสวนา คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมส่งมอบผ้าห่มรักษ์โลก จำนวน 300 ผืน ให้แก่นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และนิสิตหอพักมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีผู้เทนรับมอบผ้าห่มผ่านกิจกรรมส่งมอบผ้าห่มรักษ์โลก ส่วนภาคบ่ายมีการประกวดแฟชั่นรักษ์โลก การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (จากวัสดุรีไซเคิล)  และการจัดนิทรรศการ TSU GO GREEN

อาจารย์วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสงขลา กล่าวว่า สำนักงานวิทยาเขตสงขลา มีกิจกรรมคัดแยกขยะเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดปริมาณขยะตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยส่งเสริมการรีไซเคิลขวดพลาสติกให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อขับเคลื่อนหมุดหมายนโยบายมหาวิทยาลัยตามแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยทักษิณ ระยะ 5  ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) กลยุทธ์ 6.7 พัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว และขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยทักษิณมุ่งสู่การเป็น The University of Glocalization โดยได้รวบรวมขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วผ่านกิจกรรม และการรณรงค์ปลูกฝังให้นิสิต มีส่วนร่วมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลาสติกและขยะ รวมถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีแหล่งที่มาที่ยั่งยืน เรื่อยไปจนถึงชุมชน และสังคม ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เห็นประโยชน์ของพลาสติก จนสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ 

  

ในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมการลดขยะหลังการบริโภค ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยการสร้างความตระหนักรู้ และทำความเข้าใจ  เกี่ยวกับปัญหาด้านการจัดการขยะ โดยการเลือกใช้ถังขยะ ที่เหมาะสมกับขยะแต่ละประเภทโดยเฉพาะขยะแบบทั่วไปและขยะรีไซเคิล เพื่อให้บุคลากรและนิสิต รวมถึงผู้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ช่วยกันแยกขยะลงถังตามประเภท ในขณะเดียวกันได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอกในการผลิตผ้าห่มเพื่อสังคม  สนับสนุนการนำเอาขวดพลาสลิก PET ไปรีใซเคิล ผลิตเป็นผ้าห่ม  ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณวางกรอบที่จะนำขวดพลาสติกร่วมสมทบให้กับ เครือข่ายหน่วยงานภายนอกนำไปผลิตผ้าห่มเพื่อสังคม โดยขอรับผ้าห่มส่วนหนึ่งนำไปส่งมอบให้กับนักเรียนโรงเรียนในพระราชดำริและโรงเรียนขาดแคลนในเขตพื้นที่การศึกษา 4 จังหวัดภาคใต้ และอีกส่วนหนึ่งสนับสนุนให้นิสิตที่อาศัยอยู่ภายในหอพักมหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก นำส่วนหนึ่งส่งมอบให้กับผู้ยากไร้ในชุมชนสังคมของจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง ผ่านกิจกรรม TSU GO GREEN โดยขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ร่วมเป็นเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อ สังคม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567

  

นอกจากนี้ ได้บริหารจัดการขยะภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า 3Rs ซึ่งเริ่มกระบวนการการจัดการขยะตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ Reduce หรือการใช้ให้น้อยลง ลดการใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ต่อมาคือ Reuse การนำวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ยังใช้งานได้ กลับมาใช้ซ้ำ จนถึง Recycle คือการนำวัสดุผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแล้วมาแปรรูป แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หากสามารถทำได้ครบทั้ง 3Rs ก็จะสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน  ลดการสร้างมลพิษเเก่โลก และยังนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า แทนที่จะถูกทิ้งแล้วนำไปกำจัด และนอกจากช่วยลดปริมาณขยะลงได้แล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากร ใช้ทรัพยากรอย่างคุมค่า ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ด้วย