TSU

ม.ทักษิณ จัดกิจกรรมการประกวดแฟชั่นรักษ์โลก และการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก(จากวัสดุรีไซเคิล) รณรงค์สร้างนวัตกรรมจากของเหลือใช้

   15 ก.พ. 67  /   90
ม.ทักษิณ จัดกิจกรรมการประกวดแฟชั่นรักษ์โลก และการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก(จากวัสดุรีไซเคิล) รณรงค์สร้างนวัตกรรมจากของเหลือใช้
 

ม.ทักษิณ จัดกิจกรรมการประกวดแฟชั่นรักษ์โลก และการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (จากวัสดุรีไซเคิล) รณรงค์สร้างนวัตกรรมจากของเหลือใช้ ภายในงาน  TSU GO GREEN  

 

การประกวดแฟชั่นรักษ์โลก และการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (จากวัสดุรีไซเคิล) เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ TSU GO GREEN ซึ่งสำนักงานวิทยาเขตสงขลา ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่ายหน่วยงานภายนอก ร่วมกันจัดกิจกรรม เมื่อวันที่  14 กุมภาพันธ์ 2567  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีนิสิตและผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดหลากหลายรายการ โดยทีมข่าว TSU NEWS เข้าร่วมรับชมและเกาะติดการประกวด

   

สำหรับการประกวดแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการประกวดแฟชั่นรักษ์โลก ซึ่งมีทีมส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จำนวน 11 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ทีม New Thai Nice world  รางวัลที่ 2 คือทีม FACT CHECK รางวัลที่ 3 คือทีมจริงจังไม่จิงโจ้  และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ทีมทนไว้  และทีมหอยแมลงภู่

ส่วนผลงานประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (จากวัสดุรีไซเคิล) จำนวน 12 ผลงาน   ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ผลงาน Mila compashion รางวัลที่ 2 คือ ผลงานลดขยะด้วยเครื่องประดับ  รางวัลที่ 3 คือบรรจุภัณฑ์กระจูด และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน Rebloom recycle bag และผลงาน Jean bag

  

ผลงานจากส่วนหนึ่งของการประกวด อาทิ ผลงาน “หอยแมลงภู่ฮูลานานา” ซึ่งส่งเข้าประกวดแฟชั่นรักษ์โลก โดย นางสาวณัฐกฤตา  เทพแก้ว ได้กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ ว่า “ปกติแล้วเวลาเราเข้าไปทานอาหารในร้านบุฟเฟ่หมูกระทะ หรือปิ้งย่าง มักจะมีเปลือกหอยเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหอยแมลงภู่ หอยแครง เป็นต้น ซึ่งเปลือกหอยเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะผลิตเป็นเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน แต่ผลงานที่ส่งเข้าประกวดวันนี้ เรานำเอาเปลือกหอยแมลงภู่มาประดิษฐ์เป็นชุดสำหรับสวมใส่ เพื่อหวังสร้าง Soft Power ในอนาคตอาจจะมีการนำเปลือกหอยไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ เครื่องประดับ และชุดสำหรับสวมใส่

   

ผลงานบรรจุภัณฑ์เพื่อชะลอความสุกของผลไม้จากใบปาล์ม  เป็นผลงานสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์กระจูด โดยทีมนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ประกอบด้วย นางสาวนันทิชา ฝายเส็ม  นางสาวพฤษณีญา โพธิ์ทอง  นายพงศกร  หลีนะ  และนายอาฮมัด วาเลาะ  มีแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงาน คือ จากการลงพื้นที่พบว่าคนในชุมชนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีการปลูกต้นปาล์มเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวสวนปาล์มจะนำไปปาล์มที่เหลือทิ้งหรือเผาทำลาย ซึ่งกลุ่มควันที่เกิดจากการเผาทำลายทางปาล์มก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทางคณะผู้จัดทำ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมจากใบปาล์มมาผสมผสานกับกระจูดของดีชุมชนทะเลน้อย  เพื่อจะนำมาปรับใช้ในการนำสิ่งของเหลือใช้จากการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า “บรรจุภัณฑ์ชะลอการสุกของพืช ผัก ผลไม้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทั้งในและต่างประเทศ” สอดคล้องกับ SDGs ข้อที่ 13 คือการลดการใช้พลาสติกกันกระแทกในการขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย...

กิจกรรมรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยทักษิณ เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ของการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่นิสิตและบุคลากร ขยายวงนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันขององค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก ก่อเกิดเป็นความร่วมมือนำไปสู่ความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยลด ละ เลิก การใช้วัสดุอย่างสิ้นเปลือง และร่วมด้วยช่วยกันในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป