TSU

ก้าวที่กล้าสู่ปีที่ 57 มหาวิทยาลัยทักษิณ อธิการบดีประกาศคานงัดใหม่มุ่งสู่ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ

   1 ต.ค. 67  /   23
ก้าวที่กล้าสู่ปีที่ 57 มหาวิทยาลัยทักษิณ อธิการบดีประกาศคานงัดใหม่มุ่งสู่ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ

วันที่ 1 ตุลาคม  2567 มหาวิทยาลัยทักษิณได้จัดงานก้าวที่กล้าสู่ปีที่ 57 มหาวิทยาลัยทักษิณ TSU Unstoppable ณ หอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา  อันเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ พร้อมประกาศนโยบายใหม่ มุ่งสู่การเป็น มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ            

   

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายในยุค BANI World โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพครั้งใหญ่จากโควิด-19 การทบทวนโลกาภิวัตน์ (Rewiring Globalization) และ Glocalization อันเป็นกระบวนการเชื่อมต่อระหว่างโลกาภิวัตน์กับความเป็นท้องถิ่น ด้วยทางเลือกประสบการณ์และมาตรฐานใหม่ที่คาดหวัง  มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ” ได้มุ่งสร้างกระบวนการทางความคิด แนวคิด วิธีการ กระบวนทัศน์ใหม่ นโยบาย แนวทางการพัฒนา การแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของสังคม และการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ด้วยการสร้าง/ใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology and Innovation) รวมทั้งตระหนักถึงการพัฒนากำลังคน ที่มีความรู้ ทักษะ สมรรถนะใหม่ การส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างประสบการณ์ และ “ปัญญาปฏิบัติการ” ให้เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญด้วยอัตลักษณ์ “รับผิดชอบ รอบรู้ สู้งาน มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติ” ไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และพันธกิจ สมดังปรัชญา "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม" และการขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่บนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอาณาบริเวณ การเชื่อมต่อกับสังคม/ชุมชน พื้นที่ (Social Engagement Plugin) ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม สนับสนุนการเติบโต การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในระดับชาติและนานาชาติ การตอบสนองการพัฒนาประเทศในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย ผ่านความร่วมมือของหลายภาคี (Quintuple Helix) 

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ ได้เปิดเผยนโยบายเพื่อสร้างคานงัดใหม่ของมหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อมุ่งมั่นสร้างสรรค์สู่การบริหารเพื่อขับเคลื่อนและมุ่งสู่ภาพอนาคตการเป็นมหาวิทยาลัยจากรากสู่โลก (The University of Glocalization) ในเชิงยุทธศาสตร์ การเติบโตที่ไม่หยุดยั้งยั่งยืน ด้วย “ก้าวที่กล้า 10 คานงัดใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ” ดังนี้

1) พัฒนานิสิตให้มีความรู้ ทักษะรอบด้าน และประสบการณ์ปฏิบัติ ด้วยหลักสูตรสหวิทยาการ หลักสูตรใหม่ ๆ การเรียนแบบสะสมหน่วยกิต (TSU Credit Bank) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (TSU for All) พัฒนาหลักสูตรใหม่ เป็นหลักสูตรพรีเมี่ยม (TSU Premium) ด้วยหลักสูตรสองภาษา (Bilingual Degree) หลักสูตรควบสองปริญญา (Double Degree) หลักสูตรนานาชาติ (International Degree) ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ และเป็นนิสิตที่รู้จักราก-เข้าใจโลก ที่เรียกว่า Glocal Citizen

2) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น ด้วยแพลตฟอร์มมหาวิทยาลัยการเรียนรู้สำหรับทุกคน “TSU For ALL” ซึ่งเป็นการลงทะเบียนเรียนรายวิชาในการศึกษานอกระบบ ได้แก่ TSU Pre-Degree /Non Degree และการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ หลักสูตรฝึกอบรม  รายวิชาออนไลน์ TSU MOOC และประสบการณ์บุคคล เพื่อเทียบโอนเข้าสู่การศึกษาในระบบ คือ รายวิชาและหลักสูตรปริญญาของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยผู้เรียนนำผลมาเก็บสะสมไว้ในระบบธนาคารคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยทักษิณ (TSU Credit Bank) เพื่อขอรับปริญญาและ/ หรือสร้าง-เปลี่ยนเส้นทางอาชีพที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ของชีวิต 

3) สร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานการสนับสนุน "โลกชีวิตในมหาวิทยาลัย" (Campus Life) โดยจัดตั้ง “TSU ICON”  ในชื่อ “ศูนย์ส่งเสริมการประกอบการและการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์”  และ “ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและนวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” แห่งใหม่ของภาคใต้ ที่วิทยาเขตสงขลาและวิทยาเขตพัทลุง ควบคู่กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยพื้นที่สร้างสรรค์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดให้มี Co-Working Space พื้นที่สร้างสรรค์จินตนาการแห่งใหม่ การสร้างหอพัก Premium การจัดพื้นที่ TSU Prayer Zone สำหรับกิจกรรมทางศาสนา จิตวิญญาณ และการอยู่ร่วมในพหุสังคมวัฒนธรรม เป็นต้น

4) จัดตั้ง "ศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม มหาวิทยาลัยทักษิณ" (TSU Holistic Medical Center) ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ทำหน้าที่ผสมผสานและบูรณาการองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และภูมิปัญญาตะวันออก เชื่อมโยงการรักษาที่บ้าน (Home Health Care) บริการในโรงพยาบาลที่ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและรักษาโรค ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ (TSU Wellness Centre) และการบริบาลในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Hospice care)

5) งานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงสังคม พาณิชย์ และการนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ โดยมุ่งเป้าในกลุ่มประเด็นหลักคือ การพัฒนาเกษตรและเทคโนยีชีวภาพโดยใช้ฐานทรัพยากรอัตลักษณ์พื้นถิ่นและการสร้างให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม การใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและทรัพยากรพื้นถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ภาคใต้  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาภาคใต้ยั่งยืน และการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ด้วยการวิจัยและพัฒนา Soft Power ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมการศึกษาตลอดชีวิต

6) เพิ่มอันดับการจัดมหาวิทยาลัยโลกให้สูงขึ้นในเชิงคุณภาพ ในสถาบัน THE Impact Ranking Webometrics Ranking of World University, UI Green Metric World University Ranking และ Museum World Ranking การริเริ่มการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม (Thailand Social Innovation University Ranking) และการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสถาบันนวัตกรรมสังคมในระดับโลก (World Social Innovation and Impact)

  

7)  ฟื้น "สถาบันทักษิณคดีศึกษา" เป็นศูนย์กลาง-ชุมทางวัฒนธรรมและพื้นที่สร้างสรรค์

8) จัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ฝ่ายประถม เพื่อผลิตนักเรียนระดับปฐมวัยและปฐมศึกษา

9) ขับเคลื่อน TSU Holding Company ที่ได้รับการจัดตั้งในชื่อ บริษัททีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (TSU Enterprise) เป็นระบบและกลไกขับเคลื่อนธุรกิจ-เศรษฐกิจนวัตกรรมด้วยด้วยเทคโนโลยี (Tech Start Up) และการผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัย

10) สนับสนุนบทบาท "ปัญญาชนสาธารณะ" นำความรู้-ปัญญาสู่สังคม ในประเด็นรูปธรรมเชิงพื้นที่ การเชื่อมต่อนโยบาย การปฏิบัติการทางสังคมด้วยจิตสำนึกสาธารณะและความเป็นพลเมืองของบุคลากรและนิสิต   

การแถลงนโยบายที่จะดำเนินการทำทันทีของมหาวิทยาลัยทักษิณไม่เพียงแต่การยกระดับด้านจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคน การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ การบริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น  เพื่อการทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน แต่ยังมุ่งหวังที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้าง ด้วยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยทักษิณได้วางรากฐานสำหรับการเป็นสถาบันการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ในการก้าวสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ" ซึ่งเป็นการยกระดับการอุดมศึกษาไทยสู่เวทีโลก พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

   

ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรติศิษย์เก่าและนิสิตดีเด่นมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปี พ.ศ.2567 ในด้านต่าง ๆ ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานและคุณงามความดี ควรค่าแก่การยกย่อง ประกอบด้วย

รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 6 ราย

ด้านความสำเร็จในอาชีพ หน้าที่การงาน

1. นายชลทิตย์ ไชยจันทร์ ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

2. นางสาวพรพิมล ปักเข็ม ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล

ด้านสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและมหาวิทยาลัย

1. นางสาวอุไรวรรณ จันทร์ศิริ ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์

2. นายอับดุลปาตะ ยูโซะ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์

ด้านผลงานดีเด่น

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์

2. นางสาวจิตดี ศรีดี ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

รางวัลศิษย์ปัจจุบันดีเด่น จำนวน  4 ราย

ด้านกีฬา

1. นายปัณณธร ฤทธิรงค์ นิสิตคณะศึกษาศาสตร์

ด้านกิจกรรมและบำเพ็ญประโยชน์

1. นางสาวนิรัชพร ศรีสมุท นิสิตคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา

2. นายณัฐพงศ์ นาคเกลี้ยง นิสิตคณะศึกษาศาสตร์

ด้านนวัตกรรมสังคม

1. นายอานนท์ ภูหวังดี นิสิตคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ

บุคลากรตัวอย่างมหาวิทยาลัยทักษิณ  จำนวน 5 ราย

ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 23 ราย

และพิธีมอบเหรียญที่ระลึกสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีอายุงาน 25 ปีขึ้นไป รวม 84 ท่าน

ปิดท้ายด้วยคอนเสิร์ต TSU UNSTOPPABLE โดย Parichart Wind Orchestra 

ขอเชิญทุกท่านร่วมก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กับมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรม ได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยทักษิณ www.tsu.ac.th  Fanpage Facebook TSU NEWS ข่าวมหาวิทยาลัยทักษิณ  และ Fanpage Facebook  We TSU มหาวิทยาลัยทักษิณ หรือ โทร. 0-7431-7600 , 0-7460-9600